Article Index

 

buddha100

ส่วนอริยสัจ ๔ ประการนั้น ทรงแสดงไว้ว่า ทุกข์เป็นธรรมที่ต้องกำหนดรู้ เพียงแค่ข้อเดียวนี้ฟังดูสั้นแต่แฝงไปด้วยธรรมที่ละเอียดยิ่งนัก ก่อนอื่นผู้ปฏิบัติก็ควรต้องมีความรู้จากการฟังว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่าอะไรเป็นทุกข์ หรืออีกนัยหนึ่ง ทุกข์มีอะไรบ้าง ถ้าไม่รู้ ก็เหมือนคนที่ไม่รู้จักกัน เมื่อคนที่ไม่รู้จักกันเห็นกันก็ไม่รู้จักกันว่าใครเป็นใคร เสมือนเรารู้ว่าเราต้องกำหนดรู้ทุกข์ แต่เราไม่รู้ว่าทุกข์มีหน้าตาอย่างไร เมื่อไม่รู้จักก็กำหนดรู้ไม่ได้ การกำหนดรู้ทุกข์ที่เห็นได้ง่ายๆ โดยกำหนดเห็นเป็นกลุ่มก้อนเช่นร่างกายนี้เป็นทุกข์ก็ได้ หรือเห็นใจที่มีโทสะ (อกุศล หยาบ เห็นง่าย) เป็นทุกข์ก็ได้ โดยเบื้องต้นก็อาจจะกำหนดรู้ทุกข์อันได้แก่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศก ความพร่ำเพ้อพิไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความน้อยใจ ความคับแค้นใจ ความประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบไม่พอใจ ความพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบ ความผิดหวังไม่ได้ตามที่ต้องการเหล่านี้เป็นต้น

ต่อเมื่อได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไปก็จะมีปัญญาเห็นกุศลธรรม และอพยากตธรรมเป็นทุกข์ ในลักษณะที่ว่าแม้แต่จิตที่เป็นกุศลเช่น ศรัทธา เมตตา กรุณา ฉันทะ วิริยะ หิริ โอตตัปปะ หรือแม้แต่จิตที่ไม่เป็นกุศลและไม่เป็นอกุศล (อพยากตะ) คือจิตที่เฉยๆ เป็นอุเบกขาล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ทุกข์เพราะมีความเกิดดับแปรเปลี่ยนไป เป็นสังขารธรรมคือเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องดับไปเองเป็นธรรมดา เช่นนี้

ส่วนที่ทรงแสดงไว้ว่า สมุทัยคือตัณหาเป็นธรรมที่ต้องละนั้น ท่านก็สอนให้รู้ว่าตัณหาเป็นธรรมที่เราต้องกำจัด ไม่ใช่ทำให้เจริญ แต่การละหรือกำจัดตัณหาให้หมดจรดนั้นต้องเป็นไปด้วยภาวนามยปัญญา มิใช่ด้วยการคิดเอานึกเอา ซึ่งหมายความว่าผู้ปฏิบัติเพียงกำหนดรู้ทุกข์จนเกิดปัญญา แล้วปัญญาที่เกิดจากการกำหนดรู้ทุกข์นั้นแหละจะทำให้เกิดผลของการปฏิบัติ คือการละตัณหา ดังนั้นตัณหาที่ละได้เป็นลำดับนัน เป็นผลของการปฏิบัติที่ถูกต้องจากการกำหนดรูั้ทุกข์นั่นเอง หน้าที่ของผู้ปฏิบัติคือเพียงแค่กำหนดรู้ทุกข์ จนเห็นด้วยปัญญาว่ารูปนามเป็นเพียงธรรมชาติที่เป็นทุกข์แปรปรวนเปลี่ยนแปลงบังคับไม่ได้ เห็นดังนี้ก็ละตัณหาไปในตัวเอง ดังนั้นการละตัณหาจึงไม่ใช่ว่าเราจะไปกำหนดละเองตามอำเภอใจได้

อาจมีนักศึกษาพระอภิธรรมแย้งว่า ในพระอภิธรรมนั้น ท่านแสดงเรื่องอริยสัจสี่ไว้ว่า ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุหทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์) กล่าวคือ ตัณหาเป็นเหตุ ทุกข์เป็นผล ดังนั้นจะดับทุุข์ก็ต้องดับที่เหตุคือดับตัณหา เมื่อเหตุคือตัณหาดับ ทุกข์ก็ไม่เกิด หากเป็นดังนี้แล้วไซร้ ที่ข้าพเจ้ากล่าวว่าตัณหาเป็นผลของการปฏิบัติในย่อหน้าข้างบนนี้ก็ขัดกันกับคำสอนของพระองค์ซิ

คำอธิบยายในส่วนนี้คือ ที่ท่านอธิบายในพระอภิธรรมนั้นเป็คำอธิบายตามวงจรปฏิจจสมุปบาท ว่าด้วยเรื่อเหตุปัจจัยของการเกิดดับของรูปนามในสังสารวัฏว่า สิ่งนี้เป็นปัจจัยให้สิ่งนี้เกิด เมื่อสิ่งนี้เกิดสิ่งนี้จึงเกิด ท่านแสดงวงจรให้เห็นว่าสิ่งใดเป็นเหตุเป็นปัจัยให้สิ่งใดเกิด ในทางเดียวกันก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่าเมื่อเหตุดับ ผลก็ดับไปตามลำดับ

เมื่อเหตุดับ ผลก็ดับนั้น เป็นคำอธิบายปฏิสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย ให้ทราบว่าการที่จะดับทุกข์ได้นั้นต้องดับที่ใด นั่นคือดับที่เหตุ คือให้ละเสียซึ่งอวิชา ตัณหาอุปาทาน

ตอนนี้เราก็รู้ก็เข้าใจแล้วว่า เราต้องดับที่เหตุ คือละตัณหา รู้ดังนี้เปรียบเสมือนมีแผนที่นำทางเดินไปเพื่อออกจากทุกข์ นี้เป็นความเข้าใจด้านปริยัติ

คำถามต่อไป คือ ในทางปฏิบัติ เราจะดับเหตุ คือละตัณหาได้อย่างไร
เรื่องนี้เป็นเรื่องของ " วิธี "ปฏิบัติ ซึงก็ต้องย้อนไปที่อริยสัจ ๔ อีกครั้ง และเป็นไปตามท่ีพระพุธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ สมุหทัยคือตัณหาเป็นสิ่งที่ต้องละ นี้แหละวิธีการปฏิบัติ กำหนดรู้ทุกข์แล้วปัญญาในมรรคจะประหาณตัณหาไปเป็นลำดับ

ดังนั้นในย่อหน้าข้างต้นที่ข้าพเจ้ากล่าวว่าการละตัณหาได้นั้นเป็นผลของการปฏิบัติ ข้าพเจ้าหมายถึงสภาวะของการปฏิบัติซึ่งมีปริยัติรองรับ จึงมิได้ขัดกับคำสอนของพระพุทธองค์

สุดท้่ายคือเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น ผู้ที่มีปัญญาเข้าใจในอริยสัจแล้ว ย่อมเห็น ย่อมเข้าใจเรื่องเหตุปัจจัย ย่อมเข้าใจปฏิจจสมุปบาท เมื่อเห็นธรรมใดๆ ก็เห็นเหตุปัจจัยในธรรมนั้นๆ เหมือนเป็นธรรมคู่กัน

หากท่านได้อ่านตั้งแต่ต้นมาจนถึงบันทัดนี้ ท่านคงเห็นด้วยกับข้าพเจ้าว่า พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์นั้นประณีตละเอียดลึกซึ้งนัก แต่ต่อให้ได้ศึกษามากมายจนจบอภิธรรมบัณฑิต เป็นต้น หากมิได้นำความรู้มาปฏิบัติ ความรู้ก็เป็นแต่เรื่องท่องจำหมวดหมู่หัวข้อธรรม ซึ่งยากยิ่งที่จะจดจำ และเป็นความรู้ที่คงที่อยู่แค่ในตำรา จะพูดจะสอนจะแนะนำใคร ก็เป็นไปได้เพียงในตำรา เรียกว่าใช้ประโยชน์ในความรู้นั้นไม่เต็มที่ เมื่อได้ลงมือปฏิบัติแล้วไซร้ ความรู้เหล่านั้นจะประสานกลมกลืนกับการปฏิบัติให้แตกฉานทั้งแนวดิ่งและแนวราบ และยิ่งปฏิบัติก็จะยิ่งเห็นกิเลสอันหนาเตอะที่สั่งสมอยู่นี้

โดยสรุปของการปฏิบััติก็คือ มีสติกำหนดรู้รูปนามให้ตรงสภาวะ อย่างเป็นธรรมชาติ ปล่่อยวางเป็นกลางและเป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง


อนุโมทนาท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ

อนาลยา

หมายเหตุ ที่ใช้คำว่า "เรา" ในบทความนี้เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน มิได้หมายถึงความเป็นตัวตน

This work is licensed.  บทความนี้มีลิขสิทธิ์

  • อนุญาตให้ดาวน์โหลด คัดลอกบทความนี้และเผยแผ่เป็นธรรมทานต่อๆ ไปได้ โดยไม่จำกัด ยกเว้นการนำไปใช้เชิงพานิชย์  ทั้งนี้กรุณาอ้างอิงถึงผู้เขียน และแหล่งที่มาคือ http://www.analaya.com
  • หากท่านต้องการนำไปดัดแปลง แก้ไข หรือต่อเติมก่อนเผยแพร่เพื่อให้บทความนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น กรุณาเขียนว่า ?ดัดแปลงจาก?? พร้อมทั้งแจ้งผู้เขียนผ่านคอมเมนท์ในบทความด้วย 
  • ขอบคุณค่ะ

Comments   

+1 # ขอบคุณค่ะanalaya 2011-12-01 16:47
ขอบคุณค่ะ คุณ ธนพงศ์
Reply | Reply with quote | Quote
+1 # ขออนุโมทนาธนพงศ์ 2011-10-29 18:14
บทความ โลกในทางพระพุทธศาสนา และ วิปัสนาภูมิ ๖
ดีจริง กระชับ และ เข้าใจง่าย ไม่เห็นเนื้องอก

กุศลธรรมนี้ย่อมส่งผลแด่ท่านผู้เผยแผ่ด้วยความเอื้อเฟื้อ
Reply | Reply with quote | Quote
+1 # ขอบคุณค่ะanalaya 2011-10-17 17:39
ขอบคุณทุกท่านค่ะ
Reply | Reply with quote | Quote
+1 # เนื้อล้วนไม่งอกkpleo 2011-10-11 22:06
ผมกินก๋วยเตี๋ยวไม่เคยใส่ถั่วงอก เพราะถั่วงอกกลิ่นแรงจะดับกลิ่นของอื่นหมด
ผมกินก๋วยเตี๋ยวหลอด ไม่เคยขาดถั่วงอก เพราะถ้าก๋วยเตี๋ยวหลอดขาดถั่วงอก ความอร่อยก็ขาดหายไป
ผมฟังธรรม อ่านข้อธรรม ก็พิจารณาเนื้อธรรมที่เป็นหลัก ไม่ฟังหรืออ่านหลักธรรมที่เป็นเนื้องอก เพราะเนื้องอกของหลักธรรม จะยิ่งทำให้ไปไกลจากหลักธรรม
ขออนุโมทนาความตั้งใจดีของคุณ ธรรมย่อมอยู่กับผู้ประพฤติธรรม เท่านั้นก็มากพอสำหรับผู้ตั้งใจดี
ไม่มุ่งหวังและปล่อยวาง ใจจึงว่างและเป็นสุข

ขอให้ทุกท่านที่เข้ามาอ่านอนาลยา จงถึงสุญตาธรรม
Reply | Reply with quote | Quote
+2 # บทความดีๆปิ่นฟ้า 2011-07-24 12:35
:lol: สาธุ สาธุ ขออนุโมทนากับบทความดี ๆ ที่แบ่งปันกันค่ะ ขอใหเจริญในธรรมสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะคะ :lol:
Reply | Reply with quote | Quote
+2 # ขออนุโมทนากุหลาบสีชา 2011-05-14 19:34
:-) ขออนุโมทนาอย่างยิ่งค่ะ :-)
Reply | Reply with quote | Quote

Add comment


Security code
Refresh

Users
3888
Articles
271
Articles View Hits
3451959