"โลก" ในทางพระพุทธศาสนา และ วิปัสสนาภูมิ ๖"
เริ่มเขียนบทความนี้ เพื่อขยายข้อความที่เคย comment ไว้ใน Facebook.com เรื่อง "โลก" แต่เขียนไปเขียนมา จบลงด้วยเรื่องการปฏิบัติค่ะ
ก็นี่แหละ หัวใจของศาสนาพุทธคือการปฏิบัติ ไม่ว่าจะวนไปเวียนมาอย่างไร ก็มักมาลงเอยที่การปฏิบัตินะคะ
เมื่อพระพุทธองค์กล่าวถึง โลก ท่านหมายความถึง
๑. โอกาสโลก หมายถึง โลกประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ
๒. สังขารโลก แบ่งเป็นสังขารที่มีอุปาทานเข้าไปยึด เรียกว่าอุปาทินกสังขาร ที่เราปฏิบัติธรรมกันก็เพื่อขัดเกลากิเลสตัณหา มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ให้เบาบางลงจนหมดสิ้นไป เรียกได้ว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อลดละความยึดมั่นถือมั่นในสังขาร
สังขารอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า อนุปาทินกสังขาร แปลว่า สังขารซึ่งไม่มีอุปาทานเข้าไปยึด หมายถึงผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ด้วยว่าพระอรหันต์มองโลกด้วยความว่างเปล่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในความปรุงแต่ง ในสังขาร นี้หมายความว่าพระอรหันต์ท่านก็ยังมีสังขารคือร่างกายและจิตใจอยู่ แต่อุปาทาน คือความยึดมั่นถือมมั่นในสังขาร อันเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณที่จะทำให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนั้นท่านไม่มี
๓. สัตว์โลก ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงนายก. นายข. ซึ่งเป็นบัญญัติอารมณ์
แต่ท่านหมายถึง อารมณ์ปรมัตถ์ ได้แก่
๑. อายตนะ ๑๒
๒. ขันธ์ ๕
๓. ธาตุ ๑๘
๔. อินทรีย์ ๒๒
๕. อริยสัจ ๔
๖. ปฏิจจสมุปบาท ๑๒
ซึ่งรวมเรียกว่าวิปัสสนาภูมิ ๖ อันเป็นอารมณ์กรรมฐานของผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานต้องมีสติกำหนดรู้อยู่ที่อารมณ์วิปัสสนา (วิปัสสนาภูมิ) เหล่านี้อยู่เนืองๆ เท่านั้น หากตกไปจากอารมณ์เหล่านี้ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จะเห็นว่าวิปัสสนาภูมิทั้ง ๖ นี้ก็ คือการพิจารณารูป นามหรือ กาย ใจนั่นเอง ไม่มีนอกเหนือออกไปจากกาย ใจ
Article Index
Page 1 of 5
Comments
ดีจริง กระชับ และ เข้าใจง่าย ไม่เห็นเนื้องอก
กุศลธรรมนี้ย่อมส่งผลแด่ท่านผู้เผยแผ่ด้วยความเอื้อเฟื้อ
ผมกินก๋วยเตี๋ยวหลอด ไม่เคยขาดถั่วงอก เพราะถ้าก๋วยเตี๋ยวหลอดขาดถั่วงอก ความอร่อยก็ขาดหายไป
ผมฟังธรรม อ่านข้อธรรม ก็พิจารณาเนื้อธรรมที่เป็นหลัก ไม่ฟังหรืออ่านหลักธรรมที่เป็นเนื้องอก เพราะเนื้องอกของหลักธรรม จะยิ่งทำให้ไปไกลจากหลักธรรม
ขออนุโมทนาความตั้งใจดีของคุณ ธรรมย่อมอยู่กับผู้ประพฤติธรรม เท่านั้นก็มากพอสำหรับผู้ตั้งใจดี
ไม่มุ่งหวังและปล่อยวาง ใจจึงว่างและเป็นสุข
ขอให้ทุกท่านที่เข้ามาอ่านอนาลยา จงถึงสุญตาธรรม
RSS feed for comments to this post