Article Index

mahaeyong-buddha17

"โลก" ในทางพระพุทธศาสนา และ วิปัสสนาภูมิ ๖"


เริ่มเขียนบทความนี้ เพื่อขยายข้อความที่เคย comment ไว้ใน Facebook.com เรื่อง "โลก" แต่เขียนไปเขียนมา จบลงด้วยเรื่องการปฏิบัติค่ะ

ก็นี่แหละ หัวใจของศาสนาพุทธคือการปฏิบัติ ไม่ว่าจะวนไปเวียนมาอย่างไร ก็มักมาลงเอยที่การปฏิบัตินะคะ

เมื่อพระพุทธองค์กล่าวถึง โลก ท่านหมายความถึง

๑. โอกาสโลก หมายถึง โลกประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศ

๒. สังขารโลก แบ่งเป็นสังขารที่มีอุปาทานเข้าไปยึด เรียกว่าอุปาทินกสังขาร ที่เราปฏิบัติธรรมกันก็เพื่อขัดเกลากิเลสตัณหา มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ให้เบาบางลงจนหมดสิ้นไป เรียกได้ว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อลดละความยึดมั่นถือมั่นในสังขาร

สังขารอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า อนุปาทินกสังขาร แปลว่า สังขารซึ่งไม่มีอุปาทานเข้าไปยึด หมายถึงผู้ที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ด้วยว่าพระอรหันต์มองโลกด้วยความว่างเปล่าไม่ยึดมั่นถือมั่นในความปรุงแต่ง ในสังขาร นี้หมายความว่าพระอรหันต์ท่านก็ยังมีสังขารคือร่างกายและจิตใจอยู่ แต่อุปาทาน คือความยึดมั่นถือมมั่นในสังขาร อันเป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณที่จะทำให้เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนั้นท่านไม่มี

๓. สัตว์โลก ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงนายก. นายข. ซึ่งเป็นบัญญัติอารมณ์

แต่ท่านหมายถึง อารมณ์ปรมัตถ์ ได้แก่

๑. อายตนะ ๑๒
๒. ขันธ์ ๕
๓. ธาตุ ๑๘
๔. อินทรีย์ ๒๒
๕. อริยสัจ ๔
๖. ปฏิจจสมุปบาท ๑๒

ซึ่งรวมเรียกว่าวิปัสสนาภูมิ ๖ อันเป็นอารมณ์กรรมฐานของผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานต้องมีสติกำหนดรู้อยู่ที่อารมณ์วิปัสสนา (วิปัสสนาภูมิ) เหล่านี้อยู่เนืองๆ เท่านั้น หากตกไปจากอารมณ์เหล่านี้ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จะเห็นว่าวิปัสสนาภูมิทั้ง ๖ นี้ก็ คือการพิจารณารูป นามหรือ กาย ใจนั่นเอง ไม่มีนอกเหนือออกไปจากกาย ใจ


lpkasemdhammatarez

 
ดังพระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี (พระครูกเกษมธรรมทัต) ท่านได้กล่าวว่า "วิปัสสนาภูมิ ก็หมายถึง พื้นที่กระทำวิปัสสนา หรือกรรมฐานของวิปัสสนา หรือ อารมณ์ของวิปัสสนา หมายความว่า การเจริญวิปัสสนานั้นต้องกำหนดรู้อยู่ที่วิปัสสนาภูมิ" และท่านใช้คำว่า ''ทางสายนิพพาน''หมายถึงว่าผู้ปฏิบัติที่กำลังจริญวิปัสสนาภูมิ ๖ นั้นเรียกว่ากำลังเดินอยู่บนถนนที่เรียกว่าทางสายนิพพานนั้นเอง

ดังนั้น วิปัสสนาภูมิ ๖ จึงเป็นหัวใจ เป็นฐานของการปฏิบติวิปัสสนากรรมฐานที่ชาวพุทธผู้มุ่งสู่ความหลุดพ้นควรทำความเข้าใจเป็นพื้่นฐานก่อนปฏิบัติ

ที่กล่าวว่าควรทำความเข้าใจเป็นพื้่นฐานก่อนปฏิบัติ หมายถึงว่า หากพระพุทธเจ้ามิได้ทรงสอนเรื่องอารมณ์กรรมฐานไว้ สัตว์โลกส่วนใหญ่จะเจริญวิปัสสนาไม่เป็น จะไม่สามารถเข้าใจได้เลยว่าจะกำหนดอารมณ์อะไรในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อไม่เข้าใจก็จะกำหนดไปอย่างผิดๆ

พระองค์เป็นคนแรกในโลกที่ชี้ให้เราเห็นว่าความเป็นจริงหรือธรรมชาติ คือกาย และใจนี้ประกอบไปด้วย อายตนะ ๑๒ ขันธ์ ๕ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ หากเห็นนอกไปจากนี้เป็นอวิชชา ปุถุชนผู้ได้ขัดเกลากิเลสตัณหาให้เบาบางลงไปได้บ้าง แต่หากยังมิได้ดับกิเกสตัณหาเป็นสมุทเฉท(ดับสนิทถาวร คือพระอรหันต์) ก็ยังมีอวิชชานองเนื่องอยู่ในสันดาน

ธรรมชาติ หรือความจริงเหล่านี้หากท่านไม่แสดงไว้ เราก็ไม่อาจเข้าใจได้ ดังนั้นหากไม่มีพระพุทธเจ้าแล้วไซร้ เราจะไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังเรื่องรูปนามขันธ์ห้า กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นต้น เลย

ผู้ที่จะสามารถตรัสรู้ได้โดยไม่ต้องได้ยินได้ฟังคำสอนจากพระพุทธเจ้านั้นมีเพียงพระปัจเจกพระพุทธเจ้าเท่านั้น พระปัจเจกพระพุทธเจ้าคือ ผู้ที่ได้บำเพ็ญบุญบารมีมามากจนสามารถตรัสรู้ชอบได้ด้วยตนเองโดยมิได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้าเมื่อบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วก็รู้ว่าได้ละอวิชชาแล้ว แต่ไม่สามารถสั่งสอนใครให้รู้ตามได้ เพียงแต่ได้ละกิเลส แต่ไม่สามารถสอน หรืออธิบายให้ผู้อื่นรู้ตาม

ต่างกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งท่านได้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง และสามารถสั่งสอนสัตว์ให้รู้ตามได้

ที่ครูอาจารย์สอนเรื่องการกำหนดรู้กายก็ดี การกำหนดรู้ความคิดก็ดี การมีสติระลึกรู้ความรู้สึกในจิต เป็นต้นก็ดี เหล่านี้ก็คืออารมณ์ในวิปัสสนาภูมิทั้ง ๖ ทั้งสิ้น แต่ด้วยพระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธองค์ ท่านจึงทรงแสดงไว้ทั้งโดยย่อ(ง่่าย) และโดยละเอียดพิสดารเพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ปฏิบติจะเข้าใจได้ตามสติปัญญาบุญบารมี ทั้งนี้มิได้หมายความว่าผู้ปฏิบัติต้องรอบรู้ในวิปัสสนาภูมิครบทั้ง ๖ จึงจะสามารถมีดวงตาเห็นธรรม เพียงแต่กำหนดรู้ภูมิใดภูมิหนึ่งอย่างถูกต้องต่อเนื่อง วิปัสสณาญาณก็จะเจริญขึ้นตามลำดับ สามารถเกิดปัญญาเห็นแจ้งในไตรลักษณ์

ที่เขียนมานี้หวังว่าจะมิทำให้นักปฏิบัติท้อใจว่า ทำไมจะปฏิบัติไปเลยไม่ได้หรือ ทำไมมันเยอะแยะ ตั้ง ๖ ภูมิ ก็ดูกายดูใจไปแค่นี้มิได้หรือ

คำตอบก็คือ ได้ หากมีความรู้ความเข้าใจ (สุตตมยปัญญา และจินตามยปัญญา) โยโสมนสิการได้ตรงทางธรรมเป็นพื้นฐานก่อนว่า ธรรมชาติของกาย ใจนั้นเป็นอย่างไร

มีผู้ปฏิบัติหลายท่านบอกกับข้าพเจ้าว่า ปฏิบัติด้วยการดูจิต  ข้าพเจ้าถามว่าดูอย่างไร
เขาตอบว่าโกรธก็รู้ อยากก็รู้ คิดก็รู้ คิดไม่ดีก็รู้ คิดดีก็รู้ เป็นต้น

ข้าพเจ้าถามว่า แล้วตอนที่จิตเฉยๆ รู้ไหม
เขาบอกว่าไม่เคยดู

เมื่อถามว่าเวลาทำความดี สงสาร ช่วยเหลือผู้อื่น หรือทำบุญเป็นต้น แล้วเคยดูจิตไหม เห็นจิตอย่างไร
เขาตอบว่า เห็นว่าจิตรู้สึกดี มีความสุข รู้ว่าจิตเป็นกุศลทำนองนี้

ถามต่อไปว่าขณะที่กำลังทำความดี สงสาร ช่วยเหลือผู้อื่น หรือทำบุญนั้น ไม่เห็นจิตที่กำลังมีศรัทธา เมตตา กรุณาหรือ เห็นไหมว่าธรรมชาติของจิตที่กำลังศรัทธา กำลังมีเมตตา กำลังกรุณาเป็นอย่างไร และเป็นธรรมชาติที่แตกต่างกันไหม หรือเห็นว่าเป็นเหมือนๆกันไปหมด
เขาตอบว่าก็เห็นแค่ว่าใจสบาย จิตแจ่มใสเบิกบานเป็นกุศล

จะเห็นได้ว่า มีผู้ปฏิบัติจำนวนมากที่คิดว่าการเจริญวิปัสสนานั้น ถ้ามีสติยู่ที่กายที่ใจอย่างนี้ก็พอ ที่จริงจะว่าพอก็พอ แต่จะว่าไม่พอก็ไม่พอ เพราะสำหรับผู้มีปัญญามีบุญบารมีสะสมมามากในอดีตชาตินั้น ไม่ต้องศึกษามากเพียงกำหนดดูกายดูใจก็สามารถเห็นแจ้งในธรรมที่ละเอียดได้เอง เรียกว่าดูกายก็เข้าใจได้ว่าประกอบไปด้วยธาตุ อายตนะ อินทรีย์ เห็นจิตก็เข้าใจว่าจิตที่เป็นกุศลมีอยู่ ที่เป็นอกุศลมีอยู่ และที่เป็นกลางๆ ก็มีอยู่ และเห็นว่าโลภะอันเป็นอกุศลจิตนั้นเป็นธรรมชาติที่มีลักษณะแยกย่อยออกไปได้อีก เช่น จิตที่อยากได้อยากเป็นก็เป็นโลภะ และแม้แต่จิตที่ไม่อยากได้ไม่อยากเป็นก็เป็นโลภะเช่นกัน ธรรมชาติทั้งสองนี้เรียกว่าโลภะแต่มีลัษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน (วิเศษณลักษณะ)



dontworryabout-the-past600pix  

ลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน (วิเศษณลักษณะ) ของรูปนาม หรือกายใจนี้เป็นเรื่องสำคัญ

ผู้ปฏิบัติที่ไม่เห็นวิเศษณลักษณะ จะไม่สามารถเข้าถึง พระไตรลักษณ์ อันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้เลย ต้องเห็นวิเศษณลักษณะก่อน พระไตรลักษณ์จึงปรากฏ พระไตรลักษณ์ไม่ใช่ธรรมที่เรากำหนดให้มีให้เป็นได้ แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเองและดับไปเองตามเหตุปัจจัย กล่าวคือเมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดรู้ที่กายที่ใจอยู่เนื่องๆ จนเห็นว่ากายนี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ซึ่งแตกต่างกันกับใจ การที่เข้าไปเห็นว่ากายมีลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างไปจากใจ เรียกว่าได้เห็นวิเศษณลักษณะชองรูป นาม (รูปธรรม นามธรรม หรือเรียกง่างๆ ว่ากายใจ) เมื่อนั้นก็เห็นพระไตรลักษณ์ แต่ตอนนั้นยังเห็นกายเป็นกลุ่มเป็นก้อน(หรือเป็นธรรมชาติ)หนึ่ง เห็นใจเป็นอีกกลุ่มเป็นก้อนหนึ่ง(หรือเป็นธรรมชาติ)ที่แตกต่างกัน ต่อเมื่อปฏิบัติต่อไป เมื่อวิปัสสนาเจริญขึ้นก็อาจเห็นว่ากายนี้ก็มิได้เป็นกลุ่มเป็นก้อนแต่รูปกับนาม แต่ประกอบไปด้วยธาตุต่างๆ หรืออายตนะต่างๆ เป็นต้น และเข้าใจต่อไปว่า ธาตุแต่ละธาตุที่ประกอบเป็นกายก็มีวิเศษณลักษณะที่แตกต่างกัน ธาตุดินก็มีลักษณะที่แตกต่างไปจากธาตุไฟ เป็นต้น ส่วนจิตก็มิได้เป็นกลุ่มเป็นก้อน กล่าวคือเห็นว่าจิตมิได้มีดวงเดียว จะเห็นการเกิดดับของจิตที่เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ จิตแต่ละดวงก็มีวิเศษณลักษณะที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นจิตมีความอิจฉา กับจิตที่หวงแหนสิ่งของหรือคุณความดีของตนเองมิอยากแบ่งปันให้ผู้อื่นนั้น จิตสองอย่างนี้คือโทสะ แต่ทั้งสองก็เป็นธรรมชาติที่แตกต่างกัน ความรู้สึกอิจฉา กับความรู้สึกหวงแหน ก็ต่างกันโดยวิเศษณลักษณะ แต่ก็นับว่าเป็นอกุศล คือโมหะ

นี้เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นได้เองในผู้ปฏบัติ สำหรับท่านที่ไม่เคยศึกษาพระธรรม เมื่อเห็นธรรมชาติใดในกายในใจแล้วก็อาจเรียกชื่อไม่ถูก เพราะขณะที่ปัญญาเกิดขึ้นนั้นเป็นสภาพรู้ที่ไม่มีบัญญัติ ไม่มีชื่อเรียกหรอกว่านี้คือโลภะกำลังดับ แล้วโทสะก็กำลังเกิดต่อกันนะ อะไรอย่างนี้ไม่มี ไม่มีความนึกคิดไม่มีภาษาว่าคืออะไรว่าอะไรเกิดอะไรดับ แต่ก็เข้าใจในสภาวะ มีสภาพรู้ว่ามีสิ่งหนึ่ีงเป็นธรรมชาติที่ดับไป แล้วมีอีกธรรมชาติหนึ่งที่ (มีลักษณะ) แตกต่างกันเกิดขึ้นติดต่อกัน แล้วก็ดับไปเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (สามัญญลักษณะ)

แต่สำหรับท่านที่ได้ศึกษาพระธรรมมาบ้าง เมื่อจิตเริ่มคิดเริ่มนึก ก็สามารถทบทวนเปรียบเทียบความรู้ทางปริยัติกับการปฏิบัต ก็จะมีความเข้าใจปริยัติยิ่งขึ้น


dontworryabout-future600pix

 

แล้วปริยัติล่ะ เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติอย่างไร

ผู้คนจำนวนมากศรัทธาเหลือเกิน มีฉันทะที่จะศึกษาปริยัติ มีพระอภิธรรมเป็นต้น แต่ไม่สนใจการปฏิบัติ หรือไม่สามารถนำความรู้ในพระธรรมมาใช้ปฏิบัติได้ ความรู้ที่ได้จากการศึกษาพระธรรมนั้น เป็นเสมือนแผนที่ เป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติให้ข้ามโอฆะได้จริง (โอฆะแปลว่าห้วงน้ำ หมายถึงกิเลส 4 ประเภทคือกาโมฆะ(กาม) ภโวฆะ(ภพ) ทิฏโฐฆะ(ทิฏฐิ) อวิชโชฆะ(อวิชชา) ว่าเป็นเหมือนห้วงน้ำ)
และความรู้ที่พระองค์ทรงรู้ก่อนแล้วนั้น เราก็สามารถรู้ตามได้จริงหากปฏิบัติอย่างถูกต้องจนเกิดปัญญา เมื่อนั้นความเข้าใจในธรรมจะกว้างขวางพิสดาร (พิสดารหมายถึงลึกซึ้งละเอียดละออ) และสามารถชี้แจงแนะนำผู้อื่นได้เพราะมีความรู้ทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ จึงใคร่สนับสนุนให้นักปฏิบัติได้ศึกษาพระธรรมบ้าง อย่างน้อยในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับหลักการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อที่จะได้รู้จักแผนที่ทางเดินที่ถูกต้อง ไม่เสียเวลาเดินทางผิดหรือเดินทางอ้อม และจะได้เป็นกำลังหนึ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะการศึกษาพระธรรมโดยมิได้ปฏิบัตินั้้น ก็รู้ ก็เข้าใจเป็นส่วนๆ เรียกว่าแตกฉานในพระธรรมในหมวดต่างๆ แต่ไม่เข้าใจว่าธรรมนั้นๆมีลักษณะสภวะของการปฏิบัติที่รู้ได้เห็นได้เป็นอย่างไร อีกประการหนึ่งคือ ผู้ที่ีศึกษาพระธรรมมากๆ แล้วไม่ปฏิบัติ บางท่านบางทีก็พูดธรรมะแล้วคนฟังฟังไม่รู้เรื่อง คือถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจไม่ได้ หรือฟังดูว่าเป็นเพียงแค่ความรู้ในตำรา หรือท่องจำ

สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติ เวลาปฏิบัติก็ควรวางความรู้ต่างๆไว้ก่อน เพียงกำหนดรู้กายใจที่เป็นปัจจุบัน ก็จะเกิดความเข้าใจในธรรมด้วยภาวนามยปัญญา แล้วจะอุทานใจใจว่า โอ้! ที่พระองค์ทรงแสดงไว้อย่างนี้ๆๆๆๆๆ ที่เรียนมามันเป็นอย่างนี้นี่เอง มันเห็นได้จริงอย่างนี้นี่เอง มันตรงกับพระธรรมที่ได้ศึกมาอย่างเถียงไม่ได้เลย เมื่อทบทวนความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติและความรู้ที่ได้จากการศึกษาแล้ว จึงเข้าใจได้ว่าทำไมพระธรรมจึงเป็นพระสัทธรรม เป็นความจริงที่ผู้ปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเองโดยไม่จำกัดกาล เห็นว่าปัญญาจาการปฏิบัติขัดเกลากิเลสได้จริง และเห็นว่ายังมีกิเลสอีกมากที่นองเนื่องอยู่ข้างใน แล้วจะรู้สึกซาบซึ้งในคำสอนว่าแม้เราปฏิบัติแล้วมีความรู้ความเข้าใจธรรมเกิดขึ้นเพียงส่วนนิดเดียวเท่านี้ เรายังเห็นได้ว่าธรรมที่ท่านสอนไว้แล้วนั้นเป็นจริง เห็นได้จริงเช่นนี้ ๆ ก็จะรู้สึกไม่สงสัยในคำสอนอีกต่อไป คำสอนอื่นๆ ที่ละเอียดๆ ยิ่งขึ้นไปที่ได้ศึกษามา แม้ยังไม่สามารถรู้ได้เห็นได้ แต่ก็เกิดศรัทธาอย่างมากมายที่ปฏิบัติให้เห็นเองอยู่เนืองๆ ด้วยปัญญา จะระลึกรู้สึกถึงพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้งหาประมาณมิได้ จะถือเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ

การศึกษาพระธรรมจึงเกื้อกูลต่อการปฏิบัติอย่างมาก อย่างน้อยเราชาวพุทธ ก็น่าจะมีความรู้ความเข้าใจศึกษาเรื่อง จิต เจตสิก รูป สติปัฏฐานสี่ มรรคมีองค์แปด วิปัสสนาภูมิ เพียงเท่านี้ก็พอที่จะดูแผนที่เป็น เดินถูกทาง แต่ทั้งนี้ข้าพเจ้าองก็เคยพลาด คือเวลาปฏิบัติก็ไม่วางความรู้จากการศึกษา ยังใคร่ครญคิดนึกถึงปริยัติที่เรียนมา หากไม่มีครูอาจารย์แนะนำ ก็คงเสียเวลาอีกเนิ่นนาน เรื่องมีอยู่ว่า

ข้าพเจ้าเคยกราบถามพระวิปัสสนาจารย์ ขณะเข้ากรรมฐานว่า ข้าพเจ้าได้เห็นแล้วว่าขันธ์ ๕ คือกาย ใจนี้เป็นธรรมที่แตกต่างกัน และเป็นอนัตตา คือบังคับบัญชาไม่ได้ (การเห็นกายใจเป็นอนัตตาในความหมายว่าเป็นสภาพที่บังคับไม่ได้ ต่างจากการเห็นว่ากาย ใจเป็นอนัตตาในความหมายว่าไม่มีตัวตน) ข้าพเจ้าคิดว่าจะพิจารณาธาตุเป็นลำดับต่อไป จะต้องปฏิบัติอย่างไร

ตอนนั้นข้าพเจ้ายึดติดในวิชาที่ได้เรียนมาเรื่องวิปัสสนาภูมิ ว่าวิปัสสนาภูมิมี ๖ ข้าพเจ้าก็ปรุงแต่งไปเองว่า อ้อ! หากเราจะเดินทางสายนี้ให้ถึงที่สุด ก็ต้องเดินทางนี้ จะเจริญวิปัสสนาภูมิ ๖ นี้แหละ ให้ครบเลย เพื่อให้วิปัสสนาเจริญขึ้น คิดเอาเองว่าผู้ที่จะมีดวงตาเห็นธรรมนั้น ต้องรู้หมดทั่วถ้วนทั้ง ๖ ภูมิ

เมื่อพระอาจารย์ คือพระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี ได้ยินข้าพเจ้าถามเช่นนั้น ท่านก็อมยิ้ม เหมือนขันลูกศิษย์นิดๆ แล้วท่านก็ตอบว่า พระพทุธองค์ท่านไม่ได้หมายความว่าต้องดูทั้งหมด ๖ ภูมิ กำหนดเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งให้ถูกต้องก็เข้าถึงธรรมได้แล้ว ที่ท่านทรงแสดงไว้ ๖ ภูมิก็เพื่อเกื้้อกูลต่อสัตว์โลกที่ต่างกันทั้งปัญญา และบารมีที่สั่งสมมา

แล้วท่านก็เมตตาแนะนำต่อไปว่า "ต้องเห็นอนัตตา โดยความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน"

ประโยคเดียวแค่นี้แหละ ท่านชี้แนะแค่นี้แล้วท่านให้ปฏิบัติต่อไปเอง

จนคืนสุดท้ายของการปฏิบัติ ท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่องธาตุ ๑๘ และอนัตตา ปัญหาก็คือ จะปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้เข้าใจในธรรมนั้นจริงๆ พระอาจารย์ก็ให้ดูกายดูใจดูสภาวธรรมไปเหมือนที่กำลังปฏิบัติอยู่นั่นแหละ ลูกศิษย์ก็งงไปซิ ว่าดูเพียงกายใจแค่นี้เแล้วจะเห็นได้อย่างไรว่ากายใจนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ความเข้าใจก็เข้าใจแล้วตามที่ฟังมาว่ากายใจไม่ใช่ของเรา แต่พอยกแขนขึ้นมาดูก็ยังเห็นเป็นรูปเป็นร่างเป็นแขน และเป็นแขนของเรา เป็นตัวเป็นตนของเราอยู่ดี

แต่นั่นแหละ ต่อมาข้าพเจ้าจึงทราบว่านี้คือหัวใจของการปฏิบัติ เพราะผู้ที่มุ่งมั่นมาก โดยเฉพาะขณะเข้ากรรมฐานนั้นก็จะยิ่งมีธรรมตัณหามาก อยากรู้อยากเห็นธรรมมาก ยิ่งอยากรู้ก็จะไม่รู้ ยิ่งอยากเห็นก็จะไม่เห็น ยิ่งอยากบรรลุธรรมก็จะไม่บรรลุธรรม เพราะเราแค่ท่องจำอนัตตา เรายังไม่ยอมรับในใจจริงๆ ว่าเราไม่สามารถบังคับบัญชาสิ่งใดๆได้ ที่จริงอนัตตาเขาแสดงตนอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่เห็นเพราะอัตตาของเรามันบังมิดด้วยอวิชชา ความเข้าใจเรื่ออนัตตาที่ได้จากการฟัง การใคร่ครวญ จึงเป็นเพียงเรื่องของโยโสมนสิการ แต่จะปฏิบัติอย่างไร จะวางใจอย่างไรเล่าที่จะทำให้เห็นอนัตตาโดยความไม่ใช่ตัวตนด้วยปัญญา นี้เป็นเรื่องที่บอกกันไม่ได้เพราะเป็นเรื่องใจของผู้ปฏิบัติในขณะนั้นคนเพียงเดียว

ครูอาจารย์ท่านเป็นผู้ชี้แนะ เป็นผู้ถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อประคับประคองให้ลูกศิษย์เดินไม่ผิดทาง แต่เราต้องปฏิบัติด้วยตนเอง ต้องเดินไปเอง ด้วยตัวของเราเอง ครูอาจารย์่ท่านสอนมาแล้ว เราต้องพิจารณา ใคร่ครวญพลิกแพลง พลิกหน้าพลิกหลัง พลิกซ้ายพลิกขวาด้วยความแยบคายให้ถ้วนทั่ว แต่ละคนก็จะมีความสามารถต่างกัน แล้วข้าพเจ้าก็พบว่าการมีสติกำหนดรู้กายใจให้ตรงสภาวะเท่านั้นยังไม่พอ ผู้ที่มีสติรู้กายอย่างต่อเนื่องแต่จิตตกไปสู่สมาธิก็มีมาก ส่วนผู้ที่รู้ใจ รู้เท่าทันจิต เท่าทันใจ ใจคิดก็รู้ทัน ใจนึกก็รู้ทัน ใจมีอาการ รู้สึกอย่างไรก็รู้ทัน แต่ยิ่งรู้ก็ยิ่งฟุ้งซ่าน ยิ่งดูจิตดูใจก็ยิ่งฟุ้งซ่านก็มี

การปฏิบัติจึงเป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ใช่เพียงแค่ดูอะไร ครูอาจารย์สอนว่าให้ดูกายดูใจ เราก็รู้ว่าเราควรจะต้องดูอะไร คือดูกายดูใจ ดูอะไรนั้นใครๆ จึงดูได้ แต่ดูอย่างไรนี่ซิสำคัญกว่า ''ดูอย่างไร'' นี้แหละเป็นวิธีการปฏิบัติที่จะช่วยให้เกิดปัญญา วิธีว่าจะดูอย่างไรนี้่มักแฝงอยู่ในคำสอนของบรมครูอาจารย์ทั้งหลาย ไม่ว่าหลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่มั่น หลวงปู่ขาว หลวงปู่ดู่ หลวงพ่อพุธ เจ้าคุณนรฯ หลวงปู่ชา เป็นต้น ท่านทั้งหลายล้วนสอนเสมอว่าดูอย่างไร ท่านสอนแล้ว สอนแบบตรงๆ บ้าง แบบต้องตีความบ้าง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องแสวงหาความรู้กันเอง

สำหรับข้าพเจ้านั้น เมื่อปฏิบัติต่อๆ ไป ก็พบว่า (อันนี้เป็นไปเฉพาะตน มิได้มีคำสอนรับรอง)วิปัสสนาภูมิ ๖ นั้น เหมือนกับจะเรียงไว้ตามลำดับให้พิจารณาจากธรรมที่รู้ง่ายไปสู่ธรรมที่ละเอียดและรู้ได้ยากขึ้น ดังเช่น ผู้ปฏิบัติที่เริ่มปฏิบัตินั้น ครูอาจารย์ก็มักแนะนำให้ดูกายดูใจคืีอขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เป็นเบื้องต้นนั่นเอง เพราะเป็นธรรมที่เรามักคุ้นเคย เรามักได้ยินได้ฟังพระสงฆ์สอนเรื่องขั้นธ์ ๕ หรือได้อ่านมาบ้าง (อย่างน้อยๆ ก็เคยได้ยินชื่อ)

ส่วนเรื่อง ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมที่เรามักจะไม่ค่อยคุ้นเคย ผู้ปฏิบัติบางท่านก็เห็นว่าเป็นเรื่องยาก หรือสนใจให้ทราบเพียงว่าธรรมแต่ละหมวดมีอะไรบ้าง แต่ที่สนใจศึกษาเพื่อนำมาปฏิบัตินั้นมีส่วนน้อย ทั้งๆ ที่เป็นอารมณ์กรรมฐานที่ตรง และเห็นได้เข้าใจได้จริง

ผู้ที่ศึกษาพระธรรมมาบ้าง (ไม่ว่าในอดีตชาติ หรือปัจจุบันชาติ) มีความเข้าใจเรื่องอายตนะ ธาตุ อินทรีย์ ก็สามารกำหนดรูปนาม คืีอดูกายดูใจโดยละเอียดขึ้นไปในลักษณะของความเป็นอายตนะ เป็นธาตุ เป็นอินทรีย์ได้ เช่นอายตนะก็มีอายตนะภายในและภาายนอกได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น กายประสาทเป็นรูป และมีใจ กับธรรมารมณ์เป็นนามเป็นต้น


 

buddha100

ส่วนอริยสัจ ๔ ประการนั้น ทรงแสดงไว้ว่า ทุกข์เป็นธรรมที่ต้องกำหนดรู้ เพียงแค่ข้อเดียวนี้ฟังดูสั้นแต่แฝงไปด้วยธรรมที่ละเอียดยิ่งนัก ก่อนอื่นผู้ปฏิบัติก็ควรต้องมีความรู้จากการฟังว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่าอะไรเป็นทุกข์ หรืออีกนัยหนึ่ง ทุกข์มีอะไรบ้าง ถ้าไม่รู้ ก็เหมือนคนที่ไม่รู้จักกัน เมื่อคนที่ไม่รู้จักกันเห็นกันก็ไม่รู้จักกันว่าใครเป็นใคร เสมือนเรารู้ว่าเราต้องกำหนดรู้ทุกข์ แต่เราไม่รู้ว่าทุกข์มีหน้าตาอย่างไร เมื่อไม่รู้จักก็กำหนดรู้ไม่ได้ การกำหนดรู้ทุกข์ที่เห็นได้ง่ายๆ โดยกำหนดเห็นเป็นกลุ่มก้อนเช่นร่างกายนี้เป็นทุกข์ก็ได้ หรือเห็นใจที่มีโทสะ (อกุศล หยาบ เห็นง่าย) เป็นทุกข์ก็ได้ โดยเบื้องต้นก็อาจจะกำหนดรู้ทุกข์อันได้แก่ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความเศร้าโศก ความพร่ำเพ้อพิไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความน้อยใจ ความคับแค้นใจ ความประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบไม่พอใจ ความพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบ ความผิดหวังไม่ได้ตามที่ต้องการเหล่านี้เป็นต้น

ต่อเมื่อได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไปก็จะมีปัญญาเห็นกุศลธรรม และอพยากตธรรมเป็นทุกข์ ในลักษณะที่ว่าแม้แต่จิตที่เป็นกุศลเช่น ศรัทธา เมตตา กรุณา ฉันทะ วิริยะ หิริ โอตตัปปะ หรือแม้แต่จิตที่ไม่เป็นกุศลและไม่เป็นอกุศล (อพยากตะ) คือจิตที่เฉยๆ เป็นอุเบกขาล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ทุกข์เพราะมีความเกิดดับแปรเปลี่ยนไป เป็นสังขารธรรมคือเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องดับไปเองเป็นธรรมดา เช่นนี้

ส่วนที่ทรงแสดงไว้ว่า สมุทัยคือตัณหาเป็นธรรมที่ต้องละนั้น ท่านก็สอนให้รู้ว่าตัณหาเป็นธรรมที่เราต้องกำจัด ไม่ใช่ทำให้เจริญ แต่การละหรือกำจัดตัณหาให้หมดจรดนั้นต้องเป็นไปด้วยภาวนามยปัญญา มิใช่ด้วยการคิดเอานึกเอา ซึ่งหมายความว่าผู้ปฏิบัติเพียงกำหนดรู้ทุกข์จนเกิดปัญญา แล้วปัญญาที่เกิดจากการกำหนดรู้ทุกข์นั้นแหละจะทำให้เกิดผลของการปฏิบัติ คือการละตัณหา ดังนั้นตัณหาที่ละได้เป็นลำดับนัน เป็นผลของการปฏิบัติที่ถูกต้องจากการกำหนดรูั้ทุกข์นั่นเอง หน้าที่ของผู้ปฏิบัติคือเพียงแค่กำหนดรู้ทุกข์ จนเห็นด้วยปัญญาว่ารูปนามเป็นเพียงธรรมชาติที่เป็นทุกข์แปรปรวนเปลี่ยนแปลงบังคับไม่ได้ เห็นดังนี้ก็ละตัณหาไปในตัวเอง ดังนั้นการละตัณหาจึงไม่ใช่ว่าเราจะไปกำหนดละเองตามอำเภอใจได้

อาจมีนักศึกษาพระอภิธรรมแย้งว่า ในพระอภิธรรมนั้น ท่านแสดงเรื่องอริยสัจสี่ไว้ว่า ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุหทัยเป็นเหตุให้เกิดทุกข์) กล่าวคือ ตัณหาเป็นเหตุ ทุกข์เป็นผล ดังนั้นจะดับทุุข์ก็ต้องดับที่เหตุคือดับตัณหา เมื่อเหตุคือตัณหาดับ ทุกข์ก็ไม่เกิด หากเป็นดังนี้แล้วไซร้ ที่ข้าพเจ้ากล่าวว่าตัณหาเป็นผลของการปฏิบัติในย่อหน้าข้างบนนี้ก็ขัดกันกับคำสอนของพระองค์ซิ

คำอธิบยายในส่วนนี้คือ ที่ท่านอธิบายในพระอภิธรรมนั้นเป็คำอธิบายตามวงจรปฏิจจสมุปบาท ว่าด้วยเรื่อเหตุปัจจัยของการเกิดดับของรูปนามในสังสารวัฏว่า สิ่งนี้เป็นปัจจัยให้สิ่งนี้เกิด เมื่อสิ่งนี้เกิดสิ่งนี้จึงเกิด ท่านแสดงวงจรให้เห็นว่าสิ่งใดเป็นเหตุเป็นปัจัยให้สิ่งใดเกิด ในทางเดียวกันก็ทำให้เราเข้าใจได้ว่าเมื่อเหตุดับ ผลก็ดับไปตามลำดับ

เมื่อเหตุดับ ผลก็ดับนั้น เป็นคำอธิบายปฏิสัมพันธ์ของเหตุปัจจัย ให้ทราบว่าการที่จะดับทุกข์ได้นั้นต้องดับที่ใด นั่นคือดับที่เหตุ คือให้ละเสียซึ่งอวิชา ตัณหาอุปาทาน

ตอนนี้เราก็รู้ก็เข้าใจแล้วว่า เราต้องดับที่เหตุ คือละตัณหา รู้ดังนี้เปรียบเสมือนมีแผนที่นำทางเดินไปเพื่อออกจากทุกข์ นี้เป็นความเข้าใจด้านปริยัติ

คำถามต่อไป คือ ในทางปฏิบัติ เราจะดับเหตุ คือละตัณหาได้อย่างไร
เรื่องนี้เป็นเรื่องของ " วิธี "ปฏิบัติ ซึงก็ต้องย้อนไปที่อริยสัจ ๔ อีกครั้ง และเป็นไปตามท่ีพระพุธองค์ทรงแสดงไว้ว่า ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ สมุหทัยคือตัณหาเป็นสิ่งที่ต้องละ นี้แหละวิธีการปฏิบัติ กำหนดรู้ทุกข์แล้วปัญญาในมรรคจะประหาณตัณหาไปเป็นลำดับ

ดังนั้นในย่อหน้าข้างต้นที่ข้าพเจ้ากล่าวว่าการละตัณหาได้นั้นเป็นผลของการปฏิบัติ ข้าพเจ้าหมายถึงสภาวะของการปฏิบัติซึ่งมีปริยัติรองรับ จึงมิได้ขัดกับคำสอนของพระพุทธองค์

สุดท้่ายคือเรื่องปฏิจจสมุปบาทนั้น ผู้ที่มีปัญญาเข้าใจในอริยสัจแล้ว ย่อมเห็น ย่อมเข้าใจเรื่องเหตุปัจจัย ย่อมเข้าใจปฏิจจสมุปบาท เมื่อเห็นธรรมใดๆ ก็เห็นเหตุปัจจัยในธรรมนั้นๆ เหมือนเป็นธรรมคู่กัน

หากท่านได้อ่านตั้งแต่ต้นมาจนถึงบันทัดนี้ ท่านคงเห็นด้วยกับข้าพเจ้าว่า พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์นั้นประณีตละเอียดลึกซึ้งนัก แต่ต่อให้ได้ศึกษามากมายจนจบอภิธรรมบัณฑิต เป็นต้น หากมิได้นำความรู้มาปฏิบัติ ความรู้ก็เป็นแต่เรื่องท่องจำหมวดหมู่หัวข้อธรรม ซึ่งยากยิ่งที่จะจดจำ และเป็นความรู้ที่คงที่อยู่แค่ในตำรา จะพูดจะสอนจะแนะนำใคร ก็เป็นไปได้เพียงในตำรา เรียกว่าใช้ประโยชน์ในความรู้นั้นไม่เต็มที่ เมื่อได้ลงมือปฏิบัติแล้วไซร้ ความรู้เหล่านั้นจะประสานกลมกลืนกับการปฏิบัติให้แตกฉานทั้งแนวดิ่งและแนวราบ และยิ่งปฏิบัติก็จะยิ่งเห็นกิเลสอันหนาเตอะที่สั่งสมอยู่นี้

โดยสรุปของการปฏิบััติก็คือ มีสติกำหนดรู้รูปนามให้ตรงสภาวะ อย่างเป็นธรรมชาติ ปล่่อยวางเป็นกลางและเป็นปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง


อนุโมทนาท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ

อนาลยา

หมายเหตุ ที่ใช้คำว่า "เรา" ในบทความนี้เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน มิได้หมายถึงความเป็นตัวตน

This work is licensed.  บทความนี้มีลิขสิทธิ์

  • อนุญาตให้ดาวน์โหลด คัดลอกบทความนี้และเผยแผ่เป็นธรรมทานต่อๆ ไปได้ โดยไม่จำกัด ยกเว้นการนำไปใช้เชิงพานิชย์  ทั้งนี้กรุณาอ้างอิงถึงผู้เขียน และแหล่งที่มาคือ http://www.analaya.com
  • หากท่านต้องการนำไปดัดแปลง แก้ไข หรือต่อเติมก่อนเผยแพร่เพื่อให้บทความนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น กรุณาเขียนว่า ?ดัดแปลงจาก?? พร้อมทั้งแจ้งผู้เขียนผ่านคอมเมนท์ในบทความด้วย 
  • ขอบคุณค่ะ

Comments   

+1 # ขอบคุณค่ะanalaya 2011-12-01 16:47
ขอบคุณค่ะ คุณ ธนพงศ์
Reply | Reply with quote | Quote
+1 # ขออนุโมทนาธนพงศ์ 2011-10-29 18:14
บทความ โลกในทางพระพุทธศาสนา และ วิปัสนาภูมิ ๖
ดีจริง กระชับ และ เข้าใจง่าย ไม่เห็นเนื้องอก

กุศลธรรมนี้ย่อมส่งผลแด่ท่านผู้เผยแผ่ด้วยความเอื้อเฟื้อ
Reply | Reply with quote | Quote
+1 # ขอบคุณค่ะanalaya 2011-10-17 17:39
ขอบคุณทุกท่านค่ะ
Reply | Reply with quote | Quote
+1 # เนื้อล้วนไม่งอกkpleo 2011-10-11 22:06
ผมกินก๋วยเตี๋ยวไม่เคยใส่ถั่วงอก เพราะถั่วงอกกลิ่นแรงจะดับกลิ่นของอื่นหมด
ผมกินก๋วยเตี๋ยวหลอด ไม่เคยขาดถั่วงอก เพราะถ้าก๋วยเตี๋ยวหลอดขาดถั่วงอก ความอร่อยก็ขาดหายไป
ผมฟังธรรม อ่านข้อธรรม ก็พิจารณาเนื้อธรรมที่เป็นหลัก ไม่ฟังหรืออ่านหลักธรรมที่เป็นเนื้องอก เพราะเนื้องอกของหลักธรรม จะยิ่งทำให้ไปไกลจากหลักธรรม
ขออนุโมทนาความตั้งใจดีของคุณ ธรรมย่อมอยู่กับผู้ประพฤติธรรม เท่านั้นก็มากพอสำหรับผู้ตั้งใจดี
ไม่มุ่งหวังและปล่อยวาง ใจจึงว่างและเป็นสุข

ขอให้ทุกท่านที่เข้ามาอ่านอนาลยา จงถึงสุญตาธรรม
Reply | Reply with quote | Quote
+2 # บทความดีๆปิ่นฟ้า 2011-07-24 12:35
:lol: สาธุ สาธุ ขออนุโมทนากับบทความดี ๆ ที่แบ่งปันกันค่ะ ขอใหเจริญในธรรมสูงยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะคะ :lol:
Reply | Reply with quote | Quote
+2 # ขออนุโมทนากุหลาบสีชา 2011-05-14 19:34
:-) ขออนุโมทนาอย่างยิ่งค่ะ :-)
Reply | Reply with quote | Quote

Add comment


Security code
Refresh

Users
3537
Articles
271
Articles View Hits
3193852