ทอดกฐินอย่างไรให้ได้บุญ - กฐินเพื่อสร้างศาสนวัตถุ หรือการทำกฐินเป็นกอง ๆ

Article Index

 

 

ตอนที่ ๓ วัตถุประสงค์ของการทอดกฐินได้แปรเปลี่ยนไปจากพุทธประสงค์ กลายเป็นเพื่อรวบรวมจตุปัจจัยร่วมสมทบทุนในการก่อสร้างถาวรวัตถุ

 

"๑๓ การจองกฐิน เป็นเรื่องบุคคลใดบุคคลหนึ่งดำเนินการ  บุคคลหมายถึง ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา (ที่ไม่ได้อยู่จำพรรษาวัดนั้น)

อุบาสก อุบาสิกา สามารถนำกฐินไปทอดได้ เริ่มตั้งแต่การถามเจ้าอาวาสของวัดว่า วัดของท่านมีผู้จองกฐินแล้วหรือยัง ถ้าท่านบอกว่า ยังไม่มีใครมาจองกฐิน ก็ถามอีกว่าท่านต้องการกฐินหรือต้องการเงิน ถ้าท่านบอกว่าต้องการเงิน เพราะยังมีสิ่งก่อสร้างอีกมากมาย เราก็ไม่ไปทอด หรือถ้าท่านตอบว่าต้องการทั้งกฐินและเงิน เราก็ไม่ไปทอด เพราะกฐินนั้นเดาะไม่เป็นกฐิน ถึงนำกฐินไปทอด ก็ไม่ได้อานิสงส์กฐิน

 
แต่ถ้าเจ้าอาวาสบอกว่าต้องการกฐินแสดงว่าเจ้าอาวาสรู้พระวินัย เราก็สามารถทอดกฐินวัดนี้ได้ เพราะการทอดกฐินก็เพื่ออานิสงส์ของพระภิกษุสงฆ์ และแจ้งข่าวให้ทราบทั่วกัน ถ้าเป็นวัดหลวง ต้องได้รับพระราชทานเสียก่อน จึงจะจองได้


 
๑๔. การบอกบุญกฐิน โดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่า เชิญร่วมบุญกฐินเพื่อสร้างศาสนวัตถุ ศาสนสถานต่างๆ เช่นสร้างเจดีย์ โบสถ์ วิหาร ศาลา หอระฆัง หอฉัน เมรุ โรงครัว ห้องสุขา ฯลฯ หรือเพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เช่น เพื่อช่วยคนพิการ คนชรา เด็กอนาถา สร้างโรงเรียน เป็นต้น กฐินนั้นจะเดาะตั้งแต่เริ่ม  ตั้งบุพพเจตนาเพราะหวังจะได้เงินทอง ปรารถนาจะได้เงินเข้าวัดมากๆ เพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้ จิตที่ทำงานจะเป็นจิตโลภะ หรือการทำกฐินเป็นกองๆ แจ้งว่ากองละเท่านั้นเท่านี้ ก็เช่นกัน กฐินเป็นเรื่องผ้ากฐิน ไม่มีเป็นกองๆ เป็นเงินทอง ล้วนแต่เป็นเรื่องโลภะจิตทำงาน กฐินเดาะตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ได้อานิสงส์กฐิน แต่ถ้าเป็นเจตนาเพื่อซื้อเครื่องกฐิน สามารถทำได้ "
 
เครื่องกฐิน หมายความถึง อัฏฐบริขารคือของใช้ที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์มีเพียง ๘ คือ จีวร สบง จีวร สังฆาฏิ ประคดเอว บาตร มีดโกน ธมกรก (เครื่องกรองน้ำ) เข็มเย็บผ้า 
 
อย่างไรก็ดี การถวายสิ่งของ และเครื่องใช้อื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากอัฐบริขารดังกล่าวข้างต้น  ที่พิจารณาแล้วว่าทางวัดใช้ประโยชน์ได้ก็เป็นการสมควร
 

"๑๕. การแจ้งข่าวกฐิน ให้สาธุชนทั้งหลายรับทราบ ควรทำใบแจ้งการทอดกฐิน พร้อมกำหนดการโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการสร้างวิหารทานใดๆ ถ้าวัดนั้นมีเจ้าภาพสร้างวิหารทานด้วย ควรทำใบแจ้งต่างหาก แยกออกจากใบกฐิน เพราะพิธีการทอดกฐินก็เป็นเรื่องของกฐินโดยเฉพาะ เมื่อเสร็จพิธีทอดกฐินแล้ว จึงจะแจ้งข่าวเรื่องการสร้างมหาทานอื่นๆ ต่อไป"
 
เรื่องการแจ้งข่าวกฐินนี้เห็นว่าควรทำใบแจ้งการทอดกฐินพร้อมกำหนดการเพื่อชักชวนให้ญาติโยมมาร่วมสาธุอนุโมทนา  เหมือนเป็นการประกาศว่า เจ้าภาพชื่อนี้ นามสกุลนี้ หรือคณะเจ้าภาพนี้ ได้รับเป็นเจ้าภาพกฐินวัดนี้นะ กำหนดการมีดังนี้นะ และขอเชิญท่านทั้งกลายมาร่วมรับอานิสงส์ของกฐินที่จะถวายนี้ด้วยกัน  
 
แล้วหากว่าจะต้องมีการบอกบุญเรียไรปัจจัยหรือสิ่งของเพื่อถวายวัด ก็ควรทำให้ชัดเจนโดยไม่บอกบุญเรี่ยไรในใบฎีกากฐิน 
 
ยกตัวอย่างใบฎีกากฐินทั่วๆ ไปที่แจกอยู่ในปัจจุบันมาให้ดูนะคะ ยกมาจากของจริงแต่ได้ตัดชื่อที่เกี่ยวข้องออกค่ะ 
 
 "เนื่องด้วยวัด......  แขวง…….  เขต  กรุงเทพมหานคร    เป็นอารามเก่าแก่ ก่อสร้างมานาน  ขณะนี้ ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา   ………… รวมทั้งคณะผู้มีจิตศรัทธา  ได้พร้อมใจกันจัดกฐินสามัคคีไปทอดถวาย    เพื่อรวบรวมจตุปัจจัยร่วมสมทบทุนดำเนินการบูรณะเสนาสนะ มีอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฎิที่พักของพระภิกษุสามเณรให้กลับคืนสภาพ เป็นสถานที่ควรแก่การบำเพ็ญกุศลสืบต่อไป    จึงใคร่ขอเชิญชวนท่านผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคีในครั้งนี้ โดยทั่วกัน"
 
อีกใบหนึ่งนะคะ ใบนี้บอกบุญในอินเทอร์เน็ทค่ะ
 
ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี ณ …………
ตำบล…….. อำเภอ……..  จังหวัด…….
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๔  (แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๑)
 
คณะกรรมการ.......... ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี  ๒๕๕๔  ณ วัด…… ต……  อ.……  จ.…… โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังต่อไปนี้
 
๑. เพื่อดำเนินการก่อสร้าง พระเจดีย์...……………  ให้เสร็จสมบูรณ์ เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน
พระบรมสารีริกธาตุ และเป็นพุทธศาสนสถานเพื่อสืบทอด ดำรง พระพุทธศาสนาให้มั่นคงยั่งยืนตลอดไป
 
๒. เพื่อดำเนินการก่อสร้างพระมหาอุโบสถ…………… โดยพลัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และผู้ที่มาร่วมปฏิบัติธรรม
   
กำหนดการ   วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ (แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๑)
เวลา  ๐๘.๐๐ น.      ตั้งองค์กฐินสามัคคี
เวลา   ๑๐.๐๐ น.      ประกอบพิธีทอดผ้ากฐินสามัคคี ที่ชั้น (๒ พระเจดีย์ฯ)
เวลา   ๑๑.๓๐ น.     ร่วมถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์
 
ท่านสามารถโอนเงินบริจาคร่วมบุญได้ที่
บัญชี "…………… "
ธนาคาร…………… สาขา…………… 
จังหวัด……………  เลขที่บัญชี ……… 
 
หรือ
บัญชี "…………… "
ธนาคาร…………… สาขา…………… 
จังหวัด……………  เลขที่บัญชี …… 
 
 
ให้สังเกตใบฎีกาที่ ๒ ที่ระบุว่า วัตถุประสงค์ "หลัก" ของการทอดกฐินคือการรวบรมปัจจัยเพื่อสร้างพระเจดีย์ และพระมหาอุโบสถ ( คำว่า พระอุโบสถ ใช้กับวัดหลวง คือพระอารามหลวงหมายถึง วัดที่พระเจ้าแผ่นดินหรือเชื้อพระวงศ์ทรงสร้างขึ้น แต่วัดดังกล่าวไม่น่าจะใช่วัดหลวง  ควรใข้คำว่าอุโบสถมากกว่าจึงจะถูกต้อง) 
 
ถ้าหากว่าท่านได้อ่านบทความที่เขียนขึ้นนี้ตั้งแต่ต้น เมื่ออ่านใบฎีกากฐินทั้ง ๒ ฉบับที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้  ท่านก็คงจะพอเห็นว่าวัตถุประสงค์ของการทอดกฐินได้แปรเปลี่ยนไปจากพุทธประสงค์  กลายเป็นไปเพื่อรวบรวบจตุปัจจัยร่วมสมทบทุนในการก่อสร้างถาวรวัตถุ 
 
อาจจะเป็นเรื่องยุ่งยาก และสิ้นเปลืองการจัดพิมพ์เอกสารเพิ่มเป็น ๒ ชุดก็จริง แต่ลองคิดดูว่าหากท่านได้รับซองกฐินจากเจ้าภาพแล้วเปิดดูพบว่าเป็นการบอกชวนให้ไปร่วมอนุโมทนาในการทอดกฐิน ด้วยเจ้าภาพมีจิตระลึกถึงจึงได้ส่งมาให้เพื่อจะท่านได้รับอานิสงส์กฐินร่วมกัน  เช่นนี้ผู้รับน่าจะรู้สึกดีมากๆ และก็น่าจะถูกต้องตามพระวินัย  ทั้งในแง่สาระของพิธี และข้อห้ามที่ทรงบัญญัติไว้ว่ามิให้พระสงฆ์ขอกฐินไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม  เพราะแม้ว่าจะมีชื่อเจ้าภาพ หรือคณะกรรมการวัดในใบฏีกา และ พระสงฆ์ก็มิได้เป็นผู้แจกซองกฐินด้วยตนเอง แต่เนื่องจากใบฏีกาเป็นเอากสารของวัด มีตราวัดรับรองอยู่  จึงสมควรที่จะใคร่ครวญเรื่องนี้ให้รอบคอบว่า  จะเข้าข่ายวัดและพระสงฆ์ชักชวนขอกฐินทางอ้อมโดยให้เจ้าภาพเป็นผู้บอกบุญเรี่ยไรปัจจัยจากญาติโยมแทนหรือไม่ เรื่องนี้ตั้งประเด็นถามไว้เพราะไม่ทราบคำตอบจริงๆ 
 
จะงดงาม น่าศรัทธา และเป็นไปตามพระวินัยมากกว่าหรือไม่ ถ้าการแจกใบฎีกากฐิน เป็นไปเพื่อประกาศให้สาธุชนทราบเฉพาะชื่อเจ้าภาพ และกำหนดการทอดกฐินของวัด 
 
ส่วนใบเชิญร่วมทำบุญเจ้าภาพก็พิมพ์แยกออกมาจากใบฎีกา โดยระบุว่าจะถวายปัจจัยภายหลังจากเสร็จพิธีทอดกฐิน เท่านี้ก็นับเป็นเรื่องของเจ้าภาพที่บอกบุญมาอีกต่างหากซึ่งแล้วแต่ศรัทธาญาติโยม  ก็จะไม่ดูเป็นว่าวัดหรือพระสงฆ์เป็นผู้บอกบุญเรี่ยไรกฐินเสียเอง 
 
ประเด็นนี้อาจมีคนบอกว่าถ้าไม่บอกบุญมาในใบฏีกาวัด ไม่มีตราวัดประกอบ ผู้คนก็ไม่อยากทำบุญเพราะเกรงว่าจะปัจจัยจะไม่ถึงวัด จะกลายเป็นเจ้าภาพมาเรี่ยรายโดยพลการ  เพราะก็เคยได้ยินมาว่ามีการกระทำไม่ตรงไปตรงมาเรื่องนี้เหมือนกันจากกลุ่มคนที่หวังประโยชน์จากเทศกาลทอดกฐิน 
 
แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าเรื่อง "ปัจจัย เงินๆ ทองๆ" นี้องค์พระศาสดาก็ได้ทรงเตือนไว้แล้ว  ผู้ใดจะดำเนินแนวทางที่สวนทางกับคำสอน ก็ต้องหาทางป้องกัน หรือแก้ไขกันเอาเอง เรื่องนี้คิดไม่ออกค่ะ ทราบแต่ว่าเป็นของหนัก....
 

"๑๖. การประกาศขอกฐิน โดยพระภิกษุในวัดรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางวาจาโดยตรง หรือโฆษณาทางสื่อต่างๆ เช่นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ให้มาทอดกฐินที่วัดของตน ๆ กฐินนั้นเดาะไม่เป็นกฐินเพราะผิดพระวินัย"
 
ประเด็นนี้ก็น่าสนใจ เนื่องจามหาเถระสมาคมห้ามมิให้พระสงฆ์แจกซองกฐินเอง แต่ก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่าตนเองนั้นก็ได้รับซองกฐินโดยพระสงฆ์ส่งไปรษณีย์มาให้ทุกปี รวมทั้งทางโทรศัพท์เป็นการบอกบุญและขอให้บอกบุญต่อๆ ไปอย่างตรงๆ ไม่อ้อม....เรื่องนี้สำหรับฆราวาสก็นับว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญ แต่สำหรับพระสงฆ์นั้นถือว่าเป็นการขอกฐินทำให้กฐินนั้นเดาะ ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มพิธี
 
ส่วนเรื่องการประกาศทางสื่อต่างๆ นั้น เห็นว่า ประเด็นไม่ใช้อยู่ที่วิธีประกาศ แต่อยู่ที่เนื้อหาที่ประกาศว่าเป็นไปในทางชักชวนเรี่ยไร หรือเน้นเรื่องส้งฆกรรมของพระสงฆ์อันเป็นวัตถุประสงค์หลักของการทอดกฐิน  
 
หากพระสงฆ์หรือทางวัดจะประกาศเชิญชวนให้สาธุชนมาร่วมกันอนุโมทนากฐิน โดยไม่ได้เชิญชวนในทางบอกบุญเรี่ยไรทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็น่าจะไม่ผิดพระวินัย 
 
การที่มหาเถระสมาคมห้ามมิให้พระสงฆ์แจกซองกฐินเอง ก็เข้าใจว่าเป็นเพราะ ปัจจุบันใบฎีกากฐินมักระบุในทางบอกบุญเรี่ยไร ทำให้ไม่งามหากพระสงฆ์แจกใบฎีกาเอง 
 
"...ข้อควรทราบเกี่ยวกับกฐินไม่เป็นอันทอดหรือเป็นโมฆะ
เรื่องนี้สำคัญมากควรทราบทั้งผู้ทอดและทั้งฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับเพราะเป็นเรื่องทางพระวินัย (วินัยปิฎก เล่ม ๕ หน้า ๑๓๗) คือ มักจะมีพระในวัดเที่ยวขอโดยตรงหรือโดยอ้อม ด้วย วาจาบ้าง ด้วยหนังสือบ้าง เชิญชวนให้ไปทอดกฐินในวัดของตน การทำเช่นนั้นผิดพระ วินัย กฐินไม่เป็นอันกรานนับเป็นโมฆะ ทอดก็ไม่เป็นอันทอด พระผู้รับก็ไม่ได้อานิสงส์ จึงควรระมัดระวังทำให้ถูกต้องและแนะนำผู้เข้าใจผิดปฏิบัติผิดทำให้ถูกต้องเรียบร้อย.... " ข้อความย่อหน้านี้คัดลอกจากจาก http://www.watphrasri.org

Add comment


Security code
Refresh

Users
3929
Articles
271
Articles View Hits
3493441