ทอดกฐินอย่างไรให้ได้บุญ

Article Index

 

ทอดกฐินอย่างไรให้ได้บุญ

 
ตอนที่ ๑  "หัวใจ" หรือ"สาระ" หรือ "วัตถุประสงค์" ของการทอดกฐินคืออะไร
 
เรื่องนี้เขียนตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ แต่เผยแผ่ไม่ทันงานกฐิน จึงนำมาพิมพ์ไว้ตอนนี้ ท่านใดเห็นด้วยก็ช่วยกันเผยแผ่ให้ความรู้กันและกันต่อไปด้วยนะคะ....
 
อีกไม่นานก็จะถึงประเพณีทอดกฐินแล้ว....บทความเรื่อง "ทอดกฐินอย่างไรให้ได้บุญ" นี้ เขียนขึ้นเพื่อ "เตือนใจ" พุทธศาสนิกชนให้ตั้งไว้ในใจ (โยนิโสมนสิการ) ให้ถูกต้องเกี่ยวกับการทอดกฐินเพื่อที่จะได้รับอานิสงส์ของการทำบุญทอดกฐินอย่างเต็มที่ค่ะ 
 
คำถาม….ท่านทราบหรือไม่ว่า "หัวใจ" หรือ"สาระ" หรือ "วัตถุประสงค์" ของการทอดกฐินคืออะไร.....
 
ตอบ…."หัวใจสำคัญ" หรือ "สาระ" หรือ "วัตถุประสงค์" ของประเพณีการทอดกฐินก็คือ ความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะ" ค่ะ 
 
หมายความว่า ยิ่งสมัครสมานสามัคคีมากยิ่งได้อานิสงส์มาก ถ้าสมัครสมานสามัคคีน้อยก็ได้รับอานิสงส์น้อย....ดังนั้น...ช่วงเวลาทั้ง ๓ กาล  คือช่วงเวลาในการเตรียมงานและเตรียมตัว  "ก่อน" ทอดกฐิน  และช่วงระหว่าง "ในขณะที่กำลัง" ทอดกฐิน ตลอดไปจนถึง "ภายหลัง" ที่ทอดกฐินเสร็จแล้วจึงต้องสำรวมระวังเรื่อง "ความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะ" ให้มากเป็นอันดับ ๑ จึงจะได้อานิสงส์ของกฐินอย่างเต็มที่ค่ะ
 
บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมหรือ ความสามัคคีเกี่ยวกับการทอดกฐินอย่างไรหรือ
เรื่องนี้ต้องตอบโดยย้อนไปในสมัยพุทธกาลค่ะ ในสมัยพุทธกาลนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิษุผู้อยู่จำพรรษาครบสามเดือนโดยไม่ขาดพรรษาสามารถรับผ้ากฐินได้ โดยทรงบัญญัติไว้ว่า  วัดที่พระภิกษุนั้นจำพรรษาอยู่จะต้องมีจำนวนพระสงฆ์จำพรรษาอย่างน้อย ๕ รูป จึงจะรับผ้ากฐินได้
 
ผ้ากฐินในสมัยนั้น แรกเริ่มเดิมทีก็ได้มาจากการที่พระสงฆ์ทุกรูปที่จำพรรษาร่วมกันในวัดนั้นๆ ช่วยกันเก็บผ้าที่เจ้าของไม่ใช้แล้ว ผ้าที่สกปรกเปรอะเปื้อนตามกองขยะ ผ้าห่อศพ หรือผ้าบังสุกุลที่ถูกทิ้งไว้ตามป่าช้า นำมาซักทำความสะอาด มาย้อมด้วยเปลือกไม้ แล้วตัดเย็บเป็นจีวร 
 
นี้แหละค่ะจึงกล่าวว่า หัวใจ วัตถุประสงค์ หรือสาระของ "กฐิน" คือการแสดงความสมัครสมานสามัคคี  เพราะผ้ากฐินจะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความสมัครสมานสามัคคีในหมู่ของพระสงฆ์ทั้งหมดทุกรูปที่ได้จำพรรษาอยู่ด้วยกันตลอดพรรษามาช่วยทำกิจกรรมร่วมกันคือ ทำผ้าขึ้นผืนหนึ่ง เรียกว่า ผ้ากฐิน เมื่อทำผ้ากฐินเสร็จแล้ว  ก็นำผ้านั้นมอบให้แก่พระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งที่จำพรรษามาด้วยกันในวัดเดียวกันที่มีจีวรเก่าฉีกขาด การทอดกฐินจึงจัดเป็นสังฆกรรมตามพระวินัยที่พระสงฆ์ทุกรูปต้องร่วมมือร่วมใจกันทำผ้ากฐินให้สำเร็จแม้จะไม่ได้เป็นผู้รับมอบผ้ากฐิน คือไม่ได้มีสิทธิ์ - ไม่ได้มีโกาสที่จะใชัผ้านั้นเลยก็ตาม ก็ต้องช่วยกันอนุเคราะห์พระสงฆ์ที่มีจีวรชำรุดเพื่อให้ได้เปลี่ยนจีวรใหม่ 
 
แล้วบางท่านอาจจะสงสัยว่า  ทำไมเดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาเป็นโยมถวายผ้ากฐินแด่พระสงฆ์
คำตอบก็คือ.... แม้กฐินจัดเป็นสังฆกรรมของพระสงฆ์โดยเฉพาะ แต่พระพุทธองค์มิได้ทรงห้ามพระสงฆ์รับผ้ากฐินจาก "ผู้มีศรัทธา" ดังนั้นญาติโยมมีความศรัทธาวัดใด ก็จะไปจองเป็นเจ้าภาพกฐินเพื่ออนุเคราะห์พระสงฆ์ให้ท่านไม่ต้องทำผ้าเอง แล้วก็ชักชวนญาติโยมเพื่อนฝูงมาร่วมกันทำบุญ ผ้ากฐินที่ฆราวาสถวายนั้นจัดเป็น "สังฆทาน" กล่าวคือ เป็นการถวายผ้ากฐินแด่คณะสงฆ์โดยคณะสงฆ์จะลงมติ (ญัตติทุติยกรรมวาจา) ว่าสมควรจะมอบผ้ากฐินนั้นให้แก่พระสงฆ์รูปใด
 
นอกจากนี้ ผ้ากฐินที่นับเป็นองค์กฐินนั้น ตามพระวินัยบัญญัติไว้ว่าเป็นผ้าเพียงผืนเดียว โดยจะเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในจำนวนที่มีในผ้าไตรจีวรก็ได้ กล่าวคือ จะเป็นผ้าจีวร หรือผ้าสบง หรือผ้าสังฆาฏิผืนใดผืนหนึ่งผืนเดียว
 
แต่ในปัจจุบันนี้....ผ้ากฐิน…ซึ่งเดิมเป็นผ้าผืนเดียว  ด้วยศรัทธาญาติโยม....ก็เปลี่ยนเป็นถวายผ้าไตรจีวรทั้งชุดเพื่อพระสงฆ์จะได้เปลี่ยนผ้าทั้ง ๓ ผืนอันเป็นอัฏฐบริขารที่จำเป็น
 
ส่วนกฐิน ซึ่งเดิมเป็นสังฆกรรมเฉพาะพระสงฆ์ ก็แปรเปลี่ยนมาเป็นประเพณีอันงดงามของพุทธบริษัทที่จะได้ร่วมแรงร่วมใจพากันไปทอดกฐินซึ่งก็ต้องอาศัยความสมัครสมานสามัคคีในหมู่พุทธบริษัทด้วยเช่นกัน พระเดขพระคุณท่านปยุตโตจึงได้กล่าวไว้ว่า "…กฐินจึงกลายมาเป็นความสามัคคีของฝ่ายฆฤหัส ร่วมกับฝ่ายบรรพชิต ทั้งพระและโยมสามัคคีพร้อมเพรียงกัน นับเป็นการสนับสนุนให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย.......แต่การได้มาซึ่งผ้ากฐินนั้น พระสงฆ์จะใบ้บอก จะขอ ไม่ได้ทั้งนั้น กฐินนั้นจะเป็นโมฆะ ต้องเป็นเรื่องของญาติโยมมีศรัทธาเอง ต้องให้ญาติโยมมาบอกเอง มาจองเอง ถ้าพระมาบอก มาชวน หรือทำเครื่องหมายให้เลศนัยอย่างใดอย่างหนึ่งให้โยมทำ กฐินนั้นจะเป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้ จึงเป็นเรื่องของศรัทธาญาติโยมอย่างแท้จริง เพราะถ้าไม่ศรัทธาแล้วกฐินก็ไม่เกิดขึ้น....."
 
ถามว่า แล้วถ้าญาติโยมไม่นำผ้ากฐินมาถวาย (อย่างที่ปัจจุบันนี้เรียกว่าเจ้าภาพกฐิน)...ถ้าวัดใดไม่มีผู้มาจองเป็นเจ้าภาพกฐินล่ะ แล้วพระสงฆ์จะทำอย่างไร...
ตอบ   ก็ต้องทำอย่างในสมัยพุทธกาล คือ พระสงฆ์ทุกรูปที่จำพรรษาที่วัดนั้นๆ จะต้องขวนขวายประกอปสังฆกรรมกฐินร่วมกัน คือต้องหาผ่ากฐินเอง นำมาย้อม มาเย็บเอง แล้วมอบให้พระรูปหนึ่งเอง
 
แต่คนไทยเป็นคนใจบุญมาก ชอบทำบุญ เมื่อปี ๒๕๕๐ มีข่าวฮือฮาว่าคิวจองเป็เจ้าภาพกฐินที่วัดปากน้ำยาวไปถึงปี พ.ศ. ๒๙๕๐ เจ้าภาพที่จองในปี ๒๕๕๐ ต้องรอไปทอดกฐินอีก ๓๙๗ ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกันทุกปีที่ผ่านมาก็ได้ยินว่ามีกฐินตกค้าง (วัดที่ไม่มีเจ้าภาพกฐิน)  แต่ก็เป็นนิมิตอันดีที่ปัจจุบันนี้ มีเจ้าภาพกฐินจำนวนมากเลือกจองกฐินกับวัดที่มีความทุรกันดารมากๆ หรือรอกฐินตกค้าง โอกาสที่พระสงฆ์จะต้องทำผ้ากฐินเองจึงมีน้อย 
 
ทั้งหมดนี้เป็นสาระของประเพณีการทอดกฐินอย่างย่อค่ะ ชาวพุทธพอใกล้เทศกาลทอดกฐิน ก็มักจะวางแผนกันไว้แต่เนื่นๆ ว่าจะไปทำบุญทอดกฐินที่ไหนบ้าง แต่เราก็ไม่ควรลืม "สาระ" ของการทอดกฐินดังที่กล่าวมาข้างต้นด้วย  (มีต่อตอนที่ ๒)
 
แต่เมื่อทบทวนดูแล้ว เห็นว่าปัจจุบันนี้ผู้คนส่วนใหญ่ มักมุ่งเน้นการตระเตรียมกิจกรรมการงานต่างๆ  การหาปัจจัย และวัตถุสิ่งของต่างๆ ให้ได้มากๆเพื่อนำไปถวายวัดในวันทอดกฐิน จนลืมเรื่องความสามัคคีอันเป็นหัวใจของการทอดกฐิน จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายในกุศลเจตนา  แต่ที่สุดแล้วกลับไม่ได้รับอานิสงส์ของกฐินได้อย่างเต็มที่  

 

Add comment


Security code
Refresh

Users
3943
Articles
271
Articles View Hits
3512878