ทอดกฐินอย่างไรให้ได้บุญ

Article Index

 

ทอดกฐินอย่างไรให้ได้บุญ

 
ตอนที่ ๑  "หัวใจ" หรือ"สาระ" หรือ "วัตถุประสงค์" ของการทอดกฐินคืออะไร
 
เรื่องนี้เขียนตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ แต่เผยแผ่ไม่ทันงานกฐิน จึงนำมาพิมพ์ไว้ตอนนี้ ท่านใดเห็นด้วยก็ช่วยกันเผยแผ่ให้ความรู้กันและกันต่อไปด้วยนะคะ....
 
อีกไม่นานก็จะถึงประเพณีทอดกฐินแล้ว....บทความเรื่อง "ทอดกฐินอย่างไรให้ได้บุญ" นี้ เขียนขึ้นเพื่อ "เตือนใจ" พุทธศาสนิกชนให้ตั้งไว้ในใจ (โยนิโสมนสิการ) ให้ถูกต้องเกี่ยวกับการทอดกฐินเพื่อที่จะได้รับอานิสงส์ของการทำบุญทอดกฐินอย่างเต็มที่ค่ะ 
 
คำถาม….ท่านทราบหรือไม่ว่า "หัวใจ" หรือ"สาระ" หรือ "วัตถุประสงค์" ของการทอดกฐินคืออะไร.....
 
ตอบ…."หัวใจสำคัญ" หรือ "สาระ" หรือ "วัตถุประสงค์" ของประเพณีการทอดกฐินก็คือ ความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะ" ค่ะ 
 
หมายความว่า ยิ่งสมัครสมานสามัคคีมากยิ่งได้อานิสงส์มาก ถ้าสมัครสมานสามัคคีน้อยก็ได้รับอานิสงส์น้อย....ดังนั้น...ช่วงเวลาทั้ง ๓ กาล  คือช่วงเวลาในการเตรียมงานและเตรียมตัว  "ก่อน" ทอดกฐิน  และช่วงระหว่าง "ในขณะที่กำลัง" ทอดกฐิน ตลอดไปจนถึง "ภายหลัง" ที่ทอดกฐินเสร็จแล้วจึงต้องสำรวมระวังเรื่อง "ความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะ" ให้มากเป็นอันดับ ๑ จึงจะได้อานิสงส์ของกฐินอย่างเต็มที่ค่ะ
 
บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมหรือ ความสามัคคีเกี่ยวกับการทอดกฐินอย่างไรหรือ
เรื่องนี้ต้องตอบโดยย้อนไปในสมัยพุทธกาลค่ะ ในสมัยพุทธกาลนั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิษุผู้อยู่จำพรรษาครบสามเดือนโดยไม่ขาดพรรษาสามารถรับผ้ากฐินได้ โดยทรงบัญญัติไว้ว่า  วัดที่พระภิกษุนั้นจำพรรษาอยู่จะต้องมีจำนวนพระสงฆ์จำพรรษาอย่างน้อย ๕ รูป จึงจะรับผ้ากฐินได้
 
ผ้ากฐินในสมัยนั้น แรกเริ่มเดิมทีก็ได้มาจากการที่พระสงฆ์ทุกรูปที่จำพรรษาร่วมกันในวัดนั้นๆ ช่วยกันเก็บผ้าที่เจ้าของไม่ใช้แล้ว ผ้าที่สกปรกเปรอะเปื้อนตามกองขยะ ผ้าห่อศพ หรือผ้าบังสุกุลที่ถูกทิ้งไว้ตามป่าช้า นำมาซักทำความสะอาด มาย้อมด้วยเปลือกไม้ แล้วตัดเย็บเป็นจีวร 
 
นี้แหละค่ะจึงกล่าวว่า หัวใจ วัตถุประสงค์ หรือสาระของ "กฐิน" คือการแสดงความสมัครสมานสามัคคี  เพราะผ้ากฐินจะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความสมัครสมานสามัคคีในหมู่ของพระสงฆ์ทั้งหมดทุกรูปที่ได้จำพรรษาอยู่ด้วยกันตลอดพรรษามาช่วยทำกิจกรรมร่วมกันคือ ทำผ้าขึ้นผืนหนึ่ง เรียกว่า ผ้ากฐิน เมื่อทำผ้ากฐินเสร็จแล้ว  ก็นำผ้านั้นมอบให้แก่พระภิกษุสงฆ์รูปหนึ่งที่จำพรรษามาด้วยกันในวัดเดียวกันที่มีจีวรเก่าฉีกขาด การทอดกฐินจึงจัดเป็นสังฆกรรมตามพระวินัยที่พระสงฆ์ทุกรูปต้องร่วมมือร่วมใจกันทำผ้ากฐินให้สำเร็จแม้จะไม่ได้เป็นผู้รับมอบผ้ากฐิน คือไม่ได้มีสิทธิ์ - ไม่ได้มีโกาสที่จะใชัผ้านั้นเลยก็ตาม ก็ต้องช่วยกันอนุเคราะห์พระสงฆ์ที่มีจีวรชำรุดเพื่อให้ได้เปลี่ยนจีวรใหม่ 
 
แล้วบางท่านอาจจะสงสัยว่า  ทำไมเดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาเป็นโยมถวายผ้ากฐินแด่พระสงฆ์
คำตอบก็คือ.... แม้กฐินจัดเป็นสังฆกรรมของพระสงฆ์โดยเฉพาะ แต่พระพุทธองค์มิได้ทรงห้ามพระสงฆ์รับผ้ากฐินจาก "ผู้มีศรัทธา" ดังนั้นญาติโยมมีความศรัทธาวัดใด ก็จะไปจองเป็นเจ้าภาพกฐินเพื่ออนุเคราะห์พระสงฆ์ให้ท่านไม่ต้องทำผ้าเอง แล้วก็ชักชวนญาติโยมเพื่อนฝูงมาร่วมกันทำบุญ ผ้ากฐินที่ฆราวาสถวายนั้นจัดเป็น "สังฆทาน" กล่าวคือ เป็นการถวายผ้ากฐินแด่คณะสงฆ์โดยคณะสงฆ์จะลงมติ (ญัตติทุติยกรรมวาจา) ว่าสมควรจะมอบผ้ากฐินนั้นให้แก่พระสงฆ์รูปใด
 
นอกจากนี้ ผ้ากฐินที่นับเป็นองค์กฐินนั้น ตามพระวินัยบัญญัติไว้ว่าเป็นผ้าเพียงผืนเดียว โดยจะเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในจำนวนที่มีในผ้าไตรจีวรก็ได้ กล่าวคือ จะเป็นผ้าจีวร หรือผ้าสบง หรือผ้าสังฆาฏิผืนใดผืนหนึ่งผืนเดียว
 
แต่ในปัจจุบันนี้....ผ้ากฐิน…ซึ่งเดิมเป็นผ้าผืนเดียว  ด้วยศรัทธาญาติโยม....ก็เปลี่ยนเป็นถวายผ้าไตรจีวรทั้งชุดเพื่อพระสงฆ์จะได้เปลี่ยนผ้าทั้ง ๓ ผืนอันเป็นอัฏฐบริขารที่จำเป็น
 
ส่วนกฐิน ซึ่งเดิมเป็นสังฆกรรมเฉพาะพระสงฆ์ ก็แปรเปลี่ยนมาเป็นประเพณีอันงดงามของพุทธบริษัทที่จะได้ร่วมแรงร่วมใจพากันไปทอดกฐินซึ่งก็ต้องอาศัยความสมัครสมานสามัคคีในหมู่พุทธบริษัทด้วยเช่นกัน พระเดขพระคุณท่านปยุตโตจึงได้กล่าวไว้ว่า "…กฐินจึงกลายมาเป็นความสามัคคีของฝ่ายฆฤหัส ร่วมกับฝ่ายบรรพชิต ทั้งพระและโยมสามัคคีพร้อมเพรียงกัน นับเป็นการสนับสนุนให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย.......แต่การได้มาซึ่งผ้ากฐินนั้น พระสงฆ์จะใบ้บอก จะขอ ไม่ได้ทั้งนั้น กฐินนั้นจะเป็นโมฆะ ต้องเป็นเรื่องของญาติโยมมีศรัทธาเอง ต้องให้ญาติโยมมาบอกเอง มาจองเอง ถ้าพระมาบอก มาชวน หรือทำเครื่องหมายให้เลศนัยอย่างใดอย่างหนึ่งให้โยมทำ กฐินนั้นจะเป็นโมฆะ ใช้ไม่ได้ จึงเป็นเรื่องของศรัทธาญาติโยมอย่างแท้จริง เพราะถ้าไม่ศรัทธาแล้วกฐินก็ไม่เกิดขึ้น....."
 
ถามว่า แล้วถ้าญาติโยมไม่นำผ้ากฐินมาถวาย (อย่างที่ปัจจุบันนี้เรียกว่าเจ้าภาพกฐิน)...ถ้าวัดใดไม่มีผู้มาจองเป็นเจ้าภาพกฐินล่ะ แล้วพระสงฆ์จะทำอย่างไร...
ตอบ   ก็ต้องทำอย่างในสมัยพุทธกาล คือ พระสงฆ์ทุกรูปที่จำพรรษาที่วัดนั้นๆ จะต้องขวนขวายประกอปสังฆกรรมกฐินร่วมกัน คือต้องหาผ่ากฐินเอง นำมาย้อม มาเย็บเอง แล้วมอบให้พระรูปหนึ่งเอง
 
แต่คนไทยเป็นคนใจบุญมาก ชอบทำบุญ เมื่อปี ๒๕๕๐ มีข่าวฮือฮาว่าคิวจองเป็เจ้าภาพกฐินที่วัดปากน้ำยาวไปถึงปี พ.ศ. ๒๙๕๐ เจ้าภาพที่จองในปี ๒๕๕๐ ต้องรอไปทอดกฐินอีก ๓๙๗ ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกันทุกปีที่ผ่านมาก็ได้ยินว่ามีกฐินตกค้าง (วัดที่ไม่มีเจ้าภาพกฐิน)  แต่ก็เป็นนิมิตอันดีที่ปัจจุบันนี้ มีเจ้าภาพกฐินจำนวนมากเลือกจองกฐินกับวัดที่มีความทุรกันดารมากๆ หรือรอกฐินตกค้าง โอกาสที่พระสงฆ์จะต้องทำผ้ากฐินเองจึงมีน้อย 
 
ทั้งหมดนี้เป็นสาระของประเพณีการทอดกฐินอย่างย่อค่ะ ชาวพุทธพอใกล้เทศกาลทอดกฐิน ก็มักจะวางแผนกันไว้แต่เนื่นๆ ว่าจะไปทำบุญทอดกฐินที่ไหนบ้าง แต่เราก็ไม่ควรลืม "สาระ" ของการทอดกฐินดังที่กล่าวมาข้างต้นด้วย  (มีต่อตอนที่ ๒)
 
แต่เมื่อทบทวนดูแล้ว เห็นว่าปัจจุบันนี้ผู้คนส่วนใหญ่ มักมุ่งเน้นการตระเตรียมกิจกรรมการงานต่างๆ  การหาปัจจัย และวัตถุสิ่งของต่างๆ ให้ได้มากๆเพื่อนำไปถวายวัดในวันทอดกฐิน จนลืมเรื่องความสามัคคีอันเป็นหัวใจของการทอดกฐิน จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายในกุศลเจตนา  แต่ที่สุดแล้วกลับไม่ได้รับอานิสงส์ของกฐินได้อย่างเต็มที่  

 


 

 

ตอนที่ ๒ "ทอดกฐินมา ให้ได้กฐินไป

 

ในวันทอดกฐิน ณ วัดญาณเวศกวัน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖  ท่านปยุตโตจึงได้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง "ทอดกฐินมา ให้ได้กฐินไป" เพื่อสอนให้ผู้ที่ไปทอดกฐินในวันนั้นได้เข้าใจถึงสาระสำคัญที่แท้จริงของการทอดกฐิน ท่านชี้แนะให้รักษาจิตใจและความประพฤติให้ดีงามเพื่อจะได้บุญได้กุศลจากการมาร่วมทอดกฐิน โดยได้กล่าวถึงอานิสงส์กฐินของฆราวาสไว้อย่างน่าสนใจ ท่านใช้คำว่า "อานิสงส์กฐินของโยม" ซึ่งท่านหมายความถึง "คุณสมบัติที่ดีงามที่ควรบรรจุในกฐินซึ่งจะทำให้เกิดผลดีสำหรับทุกๆคน" ท่านจัดรวบรวมมาอธิบายเป็น ๓ ชุด ชุดละ ๕

 
ชุดที่ ๑ เป็นชุดข้างในใจ 
ชุดที่ ๒ เป็นชุดอากัปกิริยาการแสดงออก 
ชุดที่ ๓ เป็นชุดความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์หรือผู้อื่น  
 
คุณสมบัติดีๆ ๓ ชุดนี้มีรายละเอียดอะไรบ้างขอเชิญฟังและดาวน์โหลดพระธรรมเทศนาเรื่อง  "ทอดกฐินไป ให้ได้กฐินมา" โดยท่านปยุตโต  ฟังแล้วดีมาก จึงได้พยายามค้นหาไฟล์เสียงดังกล่าวในอินเทอร์เน็ทมา ซึ่ง พุทธศาสนิกชนควรฟังอย่างยิ่งได้ที่ลิงค์นี้ค่ะ   http://www.watnyanaves.net/th/clip_detail/542 
 
หรือแม้ท่านที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรมเทศนา เพียงแค่อ่านหัวข้อทั้ง ๓ ก็จะเห็นว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของความสำรวมระวัง กาย วาจา และใจ...อันเป็นปัจจัยสำคัญของความสามัคคี เพราะเมื่อสำรวมระวังแล้ว การกระทบกระทั่งก็ไม่เกิดขึ้น จิตใจก็จะมีแต่กุศลทำให้ได้รับอานิสงส์กฐินได้อย่างเต็มที่ 
 
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาคำสอนของท่านปยุตโตโดยละเอียด ก็ทำให้รู้สึกซาบซึ้งว่า ท่านมิได้เน้นเรื่องวัตถุปัจจัย การที่ท่านใช้คำว่า "คุณสมบัติ" ที่ดีงาม  "ที่ควรบรรจุในกฐิน" นั้นหมายความว่าท่านให้ความสำคัญที่นามธรรมและต้องการชี้ให้พุทธศาสนิกชนมองให้ลึกซึ้งถึงนามธรรมเหล่านี้มากกว่าวัตถุสิ่งของที่ญาติโยมบรรจงบรรจุในกฐิน...... 
 
พวกเราชาวพุทธ..จึงควรทบทวนเรื่องประเพณีการทอดกฐิน  มุ่งเน้นเรื่องของความ "สามัคคี" ให้มากว่าการมุ่งเน้นการหาเจ้าภาพสายกฐินสามัคคีให้ได้มากๆ  ตลอดจนการ "แจกซอง" หรือซื้อหาวัตถุสิ่งของ เพื่อ "รวบรวมปัจจัยและสิ่งของถวายให้ได้มากๆ" เท่านั้น
 
จริงอยู่...ทุกคนทราบว่าทำบุญกฐินนั้นได้อานิสงส์มาก แต่อานิสงส์ของกฐินไม่ได้อยู่ที่ว่าจะต้องมีปัจจัยหรือสิ่งของมากๆ....เพราะปัจจัยหรือสิ่งของรวมแล้วไม่ว่าจะมีมูลค่าเป็นแสนเป็นล้าน...ก็เป็นเพียง "บริวารกฐิน" เท่านั้น กฐินจริงๆ คือ "ผ้ากฐิน" ผืนเดียว....
 
ส่วนปัจจัยและบริขารอื่นๆ ที่จัดหามาที่เหลือทั้งหมดนั้นถือเป็นบริวารกฐิน การถวายแค่ผ้าผืนเดียวไม่จำเป็นต้องครบไตรก็นับว่าได้ทอดกฐินอย่างถูกต้องตามพระวินัยแล้ว  เรื่องบริวารกฐินนี้เจ้าภาพจะจัดบริวารกฐินหรือไม่มีเลยก็ได้   แต่เนื่องจากศรัทธาญาติโยมที่มีต่อพระพุทธศาสนานั้นมีมาก จึงมักถวายผ้ากฐินทั้งไตรเพื่อสงเคราะห์พระสงฆ์ และถวายปัจจัยตลอดจนบริขารอื่นๆ เพื่อที่พระสงฆ์จะได้ใช้สอยตามความสมควร 
 
พุทธศาสนิกชนจึงควรที่จะโยนิโสมนสิการในเรื่องการทอดกฐินให้ถูกต้อง ว่ากฐินเป็นเรื่องของ
 
๑. การแสดงออกของ "ใจที่สามัคคี" สามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ สามัคคีในหมู่พุทธบริษัท สามัคคีระหว่างพุทธบริษัทและคณะสงฆ์... 
๒. กฐิน คือผ้าผืนใดผืนหนึ่งในผ้าไตร... ไม่ใช่ "ปัจจัยหรือวัตถุสิ่งของ" 
 
เรื่องปัจจัยนี้ เคยได้ยินมีผู้กล่าวบ่อยๆ ว่า วัดจะรับกฐินได้ปีละ ๑ ครั้งเท่านั้น ดังนั้นต้องพยายามรวบรวมปัจจัยให้ได้มากๆ เพื่อถวายในวันทอดกฐิน....เพราะวัดจะต้องใช้ปัจจัยนี้ไปตลอดปี..
 
โดยส่วนตัวแล้ว เห็นว่าถูกต้องแล้วที่กล่าวว่าวัดรับกฐินได้ปีละ ๑ ครั้ง ซึ่งหมายถึงผ้ากฐิน..
  
แต่ปัจจัยนั้นเป็นคนละเรื่องกันกับกฐิน....
 
เพราะญาติโยมสามารถถวายปัจจัยสำหรับเป็นสาธารณูปโภค ค่าก่อสร้าง บูรณะปฏิสังขร เป็นต้น ได้ทุกวันตลอดปี และเคยพบว่าปัจจัยที่ญาติโยมถวายสร้างพระหรือเป็นเจ้าภาพสร้างอาคาร สร้างศาลา หรือสร้างโบสถ์ เป็นต้น ในบางครั้งยังมากว่าปัจจัยที่รวบรวมได้จากงานทอดกฐิน
 
ท่านทั้งหลายคงพบเห็นมาบ้างเมื่อไปทอดกฐิน ว่าปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อ "จำนวน" ปัจจัยมากว่าองค์กฐิน เราอาจจะเห็นการบอกบุญกันจนาทีสุดท้ายเพื่อรวมให้ตัวเลขสวยงาม 
 
ไฮไลท์ของประเพณีทอดกฐินในปัจจุบันจึงอยู่ที่ยอดเงินที่ถวายวัด แทบทุกคนรอฟังอย่างใจจรดใจจ่อคำประกาศว่าปีนี้ได้ยอดเงินเท่าไร ที่แย่กว่านั้นคืออาจจะถึงกับเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ ว่ามากขึ้นหรือน้อยลง....หรือเปรียบเทียบกับวัดอื่นๆ ที่ได้มากกว่าหรือน้อยกว่า หลายคนรีบจดเลขเก็บไว้แทงหวยหรือซื้อสลากกินแบ่งฯ .แล้วต่างก็สาธุอนุโมทนากันและกัน...ตรงนี้ดูเผินๆ เหมือนจิตเบิกบานด้วยกุศล..
 
แต่ดูให้ดีสักนิดเห็นโลภะที่เจืออยู่ไหม.....
 
ที่เขียนมานี้ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วยกับการถวายปัจจัยและวัตถุสิ่งของ เพราะเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาที่ญาติโยมร่วมกันถวายปัจจัยหรือวัตถุสิ่งของเพื่อพระสงฆ์ได้ใช้ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป  แต่โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าพุทธศาสนิกชนน่าจะโยนิโสมนสิการในเรื่องประเพณีการทดอกฐินนี้ใหม่ นับตั้งแต่เรื่องการจองกฐินไปจนถึงพิธีการทอดกฐิน ทั้งนี้น่าจะทำให้เกิดความสบายใจ โปร่งเบา ถูกต้อง งดงาม เป็นการช่วยกันรักษาพระวินัย เพื่อที่ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสก็จะได้อานิสงส์ของกฐินอย่างเต็มที่

 

 

ตอนที่ ๓ วัตถุประสงค์ของการทอดกฐินได้แปรเปลี่ยนไปจากพุทธประสงค์ กลายเป็นเพื่อรวบรวมจตุปัจจัยร่วมสมทบทุนในการก่อสร้างถาวรวัตถุ

 

"๑๓ การจองกฐิน เป็นเรื่องบุคคลใดบุคคลหนึ่งดำเนินการ  บุคคลหมายถึง ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา (ที่ไม่ได้อยู่จำพรรษาวัดนั้น)

อุบาสก อุบาสิกา สามารถนำกฐินไปทอดได้ เริ่มตั้งแต่การถามเจ้าอาวาสของวัดว่า วัดของท่านมีผู้จองกฐินแล้วหรือยัง ถ้าท่านบอกว่า ยังไม่มีใครมาจองกฐิน ก็ถามอีกว่าท่านต้องการกฐินหรือต้องการเงิน ถ้าท่านบอกว่าต้องการเงิน เพราะยังมีสิ่งก่อสร้างอีกมากมาย เราก็ไม่ไปทอด หรือถ้าท่านตอบว่าต้องการทั้งกฐินและเงิน เราก็ไม่ไปทอด เพราะกฐินนั้นเดาะไม่เป็นกฐิน ถึงนำกฐินไปทอด ก็ไม่ได้อานิสงส์กฐิน

 
แต่ถ้าเจ้าอาวาสบอกว่าต้องการกฐินแสดงว่าเจ้าอาวาสรู้พระวินัย เราก็สามารถทอดกฐินวัดนี้ได้ เพราะการทอดกฐินก็เพื่ออานิสงส์ของพระภิกษุสงฆ์ และแจ้งข่าวให้ทราบทั่วกัน ถ้าเป็นวัดหลวง ต้องได้รับพระราชทานเสียก่อน จึงจะจองได้


 
๑๔. การบอกบุญกฐิน โดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่า เชิญร่วมบุญกฐินเพื่อสร้างศาสนวัตถุ ศาสนสถานต่างๆ เช่นสร้างเจดีย์ โบสถ์ วิหาร ศาลา หอระฆัง หอฉัน เมรุ โรงครัว ห้องสุขา ฯลฯ หรือเพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เช่น เพื่อช่วยคนพิการ คนชรา เด็กอนาถา สร้างโรงเรียน เป็นต้น กฐินนั้นจะเดาะตั้งแต่เริ่ม  ตั้งบุพพเจตนาเพราะหวังจะได้เงินทอง ปรารถนาจะได้เงินเข้าวัดมากๆ เพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้ จิตที่ทำงานจะเป็นจิตโลภะ หรือการทำกฐินเป็นกองๆ แจ้งว่ากองละเท่านั้นเท่านี้ ก็เช่นกัน กฐินเป็นเรื่องผ้ากฐิน ไม่มีเป็นกองๆ เป็นเงินทอง ล้วนแต่เป็นเรื่องโลภะจิตทำงาน กฐินเดาะตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ได้อานิสงส์กฐิน แต่ถ้าเป็นเจตนาเพื่อซื้อเครื่องกฐิน สามารถทำได้ "
 
เครื่องกฐิน หมายความถึง อัฏฐบริขารคือของใช้ที่จำเป็นสำหรับพระสงฆ์มีเพียง ๘ คือ จีวร สบง จีวร สังฆาฏิ ประคดเอว บาตร มีดโกน ธมกรก (เครื่องกรองน้ำ) เข็มเย็บผ้า 
 
อย่างไรก็ดี การถวายสิ่งของ และเครื่องใช้อื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากอัฐบริขารดังกล่าวข้างต้น  ที่พิจารณาแล้วว่าทางวัดใช้ประโยชน์ได้ก็เป็นการสมควร
 

"๑๕. การแจ้งข่าวกฐิน ให้สาธุชนทั้งหลายรับทราบ ควรทำใบแจ้งการทอดกฐิน พร้อมกำหนดการโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการสร้างวิหารทานใดๆ ถ้าวัดนั้นมีเจ้าภาพสร้างวิหารทานด้วย ควรทำใบแจ้งต่างหาก แยกออกจากใบกฐิน เพราะพิธีการทอดกฐินก็เป็นเรื่องของกฐินโดยเฉพาะ เมื่อเสร็จพิธีทอดกฐินแล้ว จึงจะแจ้งข่าวเรื่องการสร้างมหาทานอื่นๆ ต่อไป"
 
เรื่องการแจ้งข่าวกฐินนี้เห็นว่าควรทำใบแจ้งการทอดกฐินพร้อมกำหนดการเพื่อชักชวนให้ญาติโยมมาร่วมสาธุอนุโมทนา  เหมือนเป็นการประกาศว่า เจ้าภาพชื่อนี้ นามสกุลนี้ หรือคณะเจ้าภาพนี้ ได้รับเป็นเจ้าภาพกฐินวัดนี้นะ กำหนดการมีดังนี้นะ และขอเชิญท่านทั้งกลายมาร่วมรับอานิสงส์ของกฐินที่จะถวายนี้ด้วยกัน  
 
แล้วหากว่าจะต้องมีการบอกบุญเรียไรปัจจัยหรือสิ่งของเพื่อถวายวัด ก็ควรทำให้ชัดเจนโดยไม่บอกบุญเรี่ยไรในใบฎีกากฐิน 
 
ยกตัวอย่างใบฎีกากฐินทั่วๆ ไปที่แจกอยู่ในปัจจุบันมาให้ดูนะคะ ยกมาจากของจริงแต่ได้ตัดชื่อที่เกี่ยวข้องออกค่ะ 
 
 "เนื่องด้วยวัด......  แขวง…….  เขต  กรุงเทพมหานคร    เป็นอารามเก่าแก่ ก่อสร้างมานาน  ขณะนี้ ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา   ………… รวมทั้งคณะผู้มีจิตศรัทธา  ได้พร้อมใจกันจัดกฐินสามัคคีไปทอดถวาย    เพื่อรวบรวมจตุปัจจัยร่วมสมทบทุนดำเนินการบูรณะเสนาสนะ มีอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฎิที่พักของพระภิกษุสามเณรให้กลับคืนสภาพ เป็นสถานที่ควรแก่การบำเพ็ญกุศลสืบต่อไป    จึงใคร่ขอเชิญชวนท่านผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคีในครั้งนี้ โดยทั่วกัน"
 
อีกใบหนึ่งนะคะ ใบนี้บอกบุญในอินเทอร์เน็ทค่ะ
 
ขอเชิญร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี ณ …………
ตำบล…….. อำเภอ……..  จังหวัด…….
วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๔  (แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๑)
 
คณะกรรมการ.......... ขอเชิญทุกท่านร่วมเป็นเจ้าภาพทอดกฐินสามัคคี  ๒๕๕๔  ณ วัด…… ต……  อ.……  จ.…… โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังต่อไปนี้
 
๑. เพื่อดำเนินการก่อสร้าง พระเจดีย์...……………  ให้เสร็จสมบูรณ์ เพื่อเป็นที่ประดิษฐาน
พระบรมสารีริกธาตุ และเป็นพุทธศาสนสถานเพื่อสืบทอด ดำรง พระพุทธศาสนาให้มั่นคงยั่งยืนตลอดไป
 
๒. เพื่อดำเนินการก่อสร้างพระมหาอุโบสถ…………… โดยพลัน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และผู้ที่มาร่วมปฏิบัติธรรม
   
กำหนดการ   วันอาทิตย์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๔ (แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๑)
เวลา  ๐๘.๐๐ น.      ตั้งองค์กฐินสามัคคี
เวลา   ๑๐.๐๐ น.      ประกอบพิธีทอดผ้ากฐินสามัคคี ที่ชั้น (๒ พระเจดีย์ฯ)
เวลา   ๑๑.๓๐ น.     ร่วมถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์
 
ท่านสามารถโอนเงินบริจาคร่วมบุญได้ที่
บัญชี "…………… "
ธนาคาร…………… สาขา…………… 
จังหวัด……………  เลขที่บัญชี ……… 
 
หรือ
บัญชี "…………… "
ธนาคาร…………… สาขา…………… 
จังหวัด……………  เลขที่บัญชี …… 
 
 
ให้สังเกตใบฎีกาที่ ๒ ที่ระบุว่า วัตถุประสงค์ "หลัก" ของการทอดกฐินคือการรวบรมปัจจัยเพื่อสร้างพระเจดีย์ และพระมหาอุโบสถ ( คำว่า พระอุโบสถ ใช้กับวัดหลวง คือพระอารามหลวงหมายถึง วัดที่พระเจ้าแผ่นดินหรือเชื้อพระวงศ์ทรงสร้างขึ้น แต่วัดดังกล่าวไม่น่าจะใช่วัดหลวง  ควรใข้คำว่าอุโบสถมากกว่าจึงจะถูกต้อง) 
 
ถ้าหากว่าท่านได้อ่านบทความที่เขียนขึ้นนี้ตั้งแต่ต้น เมื่ออ่านใบฎีกากฐินทั้ง ๒ ฉบับที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้  ท่านก็คงจะพอเห็นว่าวัตถุประสงค์ของการทอดกฐินได้แปรเปลี่ยนไปจากพุทธประสงค์  กลายเป็นไปเพื่อรวบรวบจตุปัจจัยร่วมสมทบทุนในการก่อสร้างถาวรวัตถุ 
 
อาจจะเป็นเรื่องยุ่งยาก และสิ้นเปลืองการจัดพิมพ์เอกสารเพิ่มเป็น ๒ ชุดก็จริง แต่ลองคิดดูว่าหากท่านได้รับซองกฐินจากเจ้าภาพแล้วเปิดดูพบว่าเป็นการบอกชวนให้ไปร่วมอนุโมทนาในการทอดกฐิน ด้วยเจ้าภาพมีจิตระลึกถึงจึงได้ส่งมาให้เพื่อจะท่านได้รับอานิสงส์กฐินร่วมกัน  เช่นนี้ผู้รับน่าจะรู้สึกดีมากๆ และก็น่าจะถูกต้องตามพระวินัย  ทั้งในแง่สาระของพิธี และข้อห้ามที่ทรงบัญญัติไว้ว่ามิให้พระสงฆ์ขอกฐินไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม  เพราะแม้ว่าจะมีชื่อเจ้าภาพ หรือคณะกรรมการวัดในใบฏีกา และ พระสงฆ์ก็มิได้เป็นผู้แจกซองกฐินด้วยตนเอง แต่เนื่องจากใบฏีกาเป็นเอากสารของวัด มีตราวัดรับรองอยู่  จึงสมควรที่จะใคร่ครวญเรื่องนี้ให้รอบคอบว่า  จะเข้าข่ายวัดและพระสงฆ์ชักชวนขอกฐินทางอ้อมโดยให้เจ้าภาพเป็นผู้บอกบุญเรี่ยไรปัจจัยจากญาติโยมแทนหรือไม่ เรื่องนี้ตั้งประเด็นถามไว้เพราะไม่ทราบคำตอบจริงๆ 
 
จะงดงาม น่าศรัทธา และเป็นไปตามพระวินัยมากกว่าหรือไม่ ถ้าการแจกใบฎีกากฐิน เป็นไปเพื่อประกาศให้สาธุชนทราบเฉพาะชื่อเจ้าภาพ และกำหนดการทอดกฐินของวัด 
 
ส่วนใบเชิญร่วมทำบุญเจ้าภาพก็พิมพ์แยกออกมาจากใบฎีกา โดยระบุว่าจะถวายปัจจัยภายหลังจากเสร็จพิธีทอดกฐิน เท่านี้ก็นับเป็นเรื่องของเจ้าภาพที่บอกบุญมาอีกต่างหากซึ่งแล้วแต่ศรัทธาญาติโยม  ก็จะไม่ดูเป็นว่าวัดหรือพระสงฆ์เป็นผู้บอกบุญเรี่ยไรกฐินเสียเอง 
 
ประเด็นนี้อาจมีคนบอกว่าถ้าไม่บอกบุญมาในใบฏีกาวัด ไม่มีตราวัดประกอบ ผู้คนก็ไม่อยากทำบุญเพราะเกรงว่าจะปัจจัยจะไม่ถึงวัด จะกลายเป็นเจ้าภาพมาเรี่ยรายโดยพลการ  เพราะก็เคยได้ยินมาว่ามีการกระทำไม่ตรงไปตรงมาเรื่องนี้เหมือนกันจากกลุ่มคนที่หวังประโยชน์จากเทศกาลทอดกฐิน 
 
แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าเรื่อง "ปัจจัย เงินๆ ทองๆ" นี้องค์พระศาสดาก็ได้ทรงเตือนไว้แล้ว  ผู้ใดจะดำเนินแนวทางที่สวนทางกับคำสอน ก็ต้องหาทางป้องกัน หรือแก้ไขกันเอาเอง เรื่องนี้คิดไม่ออกค่ะ ทราบแต่ว่าเป็นของหนัก....
 

"๑๖. การประกาศขอกฐิน โดยพระภิกษุในวัดรูปใดรูปหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางวาจาโดยตรง หรือโฆษณาทางสื่อต่างๆ เช่นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ ให้มาทอดกฐินที่วัดของตน ๆ กฐินนั้นเดาะไม่เป็นกฐินเพราะผิดพระวินัย"
 
ประเด็นนี้ก็น่าสนใจ เนื่องจามหาเถระสมาคมห้ามมิให้พระสงฆ์แจกซองกฐินเอง แต่ก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่าตนเองนั้นก็ได้รับซองกฐินโดยพระสงฆ์ส่งไปรษณีย์มาให้ทุกปี รวมทั้งทางโทรศัพท์เป็นการบอกบุญและขอให้บอกบุญต่อๆ ไปอย่างตรงๆ ไม่อ้อม....เรื่องนี้สำหรับฆราวาสก็นับว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญ แต่สำหรับพระสงฆ์นั้นถือว่าเป็นการขอกฐินทำให้กฐินนั้นเดาะ ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มพิธี
 
ส่วนเรื่องการประกาศทางสื่อต่างๆ นั้น เห็นว่า ประเด็นไม่ใช้อยู่ที่วิธีประกาศ แต่อยู่ที่เนื้อหาที่ประกาศว่าเป็นไปในทางชักชวนเรี่ยไร หรือเน้นเรื่องส้งฆกรรมของพระสงฆ์อันเป็นวัตถุประสงค์หลักของการทอดกฐิน  
 
หากพระสงฆ์หรือทางวัดจะประกาศเชิญชวนให้สาธุชนมาร่วมกันอนุโมทนากฐิน โดยไม่ได้เชิญชวนในทางบอกบุญเรี่ยไรทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็น่าจะไม่ผิดพระวินัย 
 
การที่มหาเถระสมาคมห้ามมิให้พระสงฆ์แจกซองกฐินเอง ก็เข้าใจว่าเป็นเพราะ ปัจจุบันใบฎีกากฐินมักระบุในทางบอกบุญเรี่ยไร ทำให้ไม่งามหากพระสงฆ์แจกใบฎีกาเอง 
 
"...ข้อควรทราบเกี่ยวกับกฐินไม่เป็นอันทอดหรือเป็นโมฆะ
เรื่องนี้สำคัญมากควรทราบทั้งผู้ทอดและทั้งฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับเพราะเป็นเรื่องทางพระวินัย (วินัยปิฎก เล่ม ๕ หน้า ๑๓๗) คือ มักจะมีพระในวัดเที่ยวขอโดยตรงหรือโดยอ้อม ด้วย วาจาบ้าง ด้วยหนังสือบ้าง เชิญชวนให้ไปทอดกฐินในวัดของตน การทำเช่นนั้นผิดพระ วินัย กฐินไม่เป็นอันกรานนับเป็นโมฆะ ทอดก็ไม่เป็นอันทอด พระผู้รับก็ไม่ได้อานิสงส์ จึงควรระมัดระวังทำให้ถูกต้องและแนะนำผู้เข้าใจผิดปฏิบัติผิดทำให้ถูกต้องเรียบร้อย.... " ข้อความย่อหน้านี้คัดลอกจากจาก http://www.watphrasri.org

 

ตอนที่ ๔ ตัวอย่างใบฎีกากฐินหลวงที่ต้องตรงพระธรรมวินัย เหตุที่ไม่มีผู้จองกฐิน"

 
มาถึงตรงนี้จึงขอแสงดงตัวอย่างใบฎีกากฐินหลวง ใบฎีกาที่ถูกต้อง และใบฎีกาที่ผิดพระธรรมวินัย เมื่ออ่านโดยละเอียดจะเห็นว่าวัตถุประสงค์หลักนั้นถูกต้องตรงพระธรรมวินัย คือเพื่อถวายผ้าพระกฐินแด่พระสงฆ์ เป็นการชักชวนพุทธศาสนิกชนให้ร่วมอนุโมทนา... ส่วนการชักชวนให้ร่วมทำบุญเพื่อถวายปัจจัยนั้น...มี-แต่มาเป็นรอง
 
และเมื่อสังเกตการใช้คำพูดชักชวนให้ทำบูญก็พบว่าต่างจากใบฎีการที่ไดัรับและได้เห็นในสื่อต่างๆ ทุกใบโดยสิ้นเชิงซึ่งเมื่อเปิดซองกฐินทุกใบในปัจจุบันนี้ ก็มักเป็นการบอกบุญทอดกฐินเพื่อสร้างหรือบูรณะปฏิสังขรมากกว่า  
 
ลิงค์แสดงตัวอย่างใบฎีกากฐินหลวง ใบฎีกาที่ถูกต้อง และใบฎีกาที่ผิดพระธรรมวินัยค่ะ
 
 

"๒๐. ไตรจีวรสำเร็จรูป  เจ้าภาพกฐินที่ซื้อไตรจีวรสำเร็จรูป ต้องตรวจสอบว่า ผ้าสังฆาฏิ จีวร สบง  เป็นผ้ามีขัณฑ์ทั้ง ๓ ผืนหรือไม่ ถ้าไม่ครบต้องหาให้ครบ และตรวจสอบผ้าทั้ง ๓ ผืน ว่าต้องเป็นผ้าที่มีการตัดก่อนแล้วจึงเย็บ หากไม่ตัดผ้า แต่มีการพับผ้าแล้วเย็บ จะไม่เป็นกฐินไม่ได้อานิสงส์กฐิน
 
๒๑. วัดที่จะรับกฐินได้ ต้องมีพระภิกษุในวัดเดียวกันครบ ๕ รูป (เป็นอย่างน้อย) จำพรรษาครบ ๓ เดือนโดยไม่ขาดพรรษา จึงจะกรานกฐิณได้ (ภิกษุที่ขาดพรรษาหรือเข้าปัจฉิมพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ ไม่ควรรับการกรานกฐิน) ถ้าพระภิกษุในอารามนั้นไม่ครบคณะสงฆ์ ๕ รูป ถ้ามีสามเณรอายุครบอุปสมบทได้ (๒๐ ปี) จำพรรษาในอารามนั้น อุปสมบททันในเดือน ๑๑ และเดือน ๑๒ ข้างขึ้น ๑-๒-๓-๔ รูป ก็ดี ให้พอครบคณะสงฆ์ ๕ รูป สามารถรับกฐินและได้อานิสงส์กฐิน

๒๒. เจ้าภาพที่ปรารถนาจะทอดกฐินหลายวัด โดยนัดพระภิกษุวัดนั้นๆ มาประชุมรับผ้ากฐิน ณ วัดใดวัดหนึ่งในวันเดียวกันนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เพราะผิดพระวินัย เจ้าภาพต้องนำกฐินไปทอดเฉพาะวัดแต่ละวัดเท่านั้น  (ในสมัยก่อน ถ้ามีผู้นำผ้าไปทอดหลายๆคน ท่านผู้ใดนำผ้าไตรกฐินเข้าเขตวัดก่อน ผ้าของท่านผู้นั้นจะเป็นผ้ากฐินทันที)
 
๒๓. กฐินตกค้าง ต้องไม่มีเจ้าภาพจองจริงๆ ไม่ใช่มาประกาศบอกข่าวล่วงหน้ากันเป็นเดือนๆอย่างนี้ไม่เรียกว่า กฐินตกค้าง เพราะกฐินตกค้างที่แท้จริงต้องใกล้วารกาลที่จะหมดกาลเวลาของ กฐินจริงๆ หมดเขตกฐิน (ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒) วัดนั้นๆ ไม่มีผู้จองไปทอดกฐินจึงจะเป็นกฐินตกค้าง ไม่ใช่ประกาศแจ้งว่าเป็นกฐินตกค้างล่วงหน้ากันนานๆ และมีเป็นจำนวนมากวัดอย่างในปัจจุบัน
 
*เหตุที่ไม่มีผู้จองกฐิน เนื่องมากจากความเข้าใจผิดว่า การทอดกฐินจะต้องใช้เงินทองจำนวนมาก กฐิน กลายเป็นหมายถึง เงินทองต้องหาเงินให้วัดเป็นจำนวนมากๆจึงจะทำ  ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง เนื่องจากการปลูกฝังความเข้าใจผิดนี้ มีต่อเนื่องกันมาเป็นเวลายาวนาน ถ้าได้อ่านสิกขาในพระพุทธธรรมคำสอนแล้วจะรู้ว่า กฐิน หมายถึง ผ้าผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน (สบง จีวร สังฆาฏิ) ไม่ใช่หมายถึงเงินทอง 
 
ดังนั้น เมื่อเกิดความเข้าใจผิด ทำให้ไม่มีผู้ใดกล้าไปทอดกฐิน เพราะไม่สามารถจะหาเงินทองจำนวนมากๆ มาถวายวัดได้ จะเห็นว่ามีวัดเป็นจำนวนมากที่ไม่มีผู้จองกฐิน ทำให้พระภิกษุขาดอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ
 
ถ้าพุทธศาสนิกชนได้รับความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องกฐิน วัดในประเทศไทย ๓๐,๐๐๐ กว่าวัด ถ้ามีพระภิกษุครบ ๕ รูป จำพรรษาครบ ๓ เดือนในแต่ละวัด ก็จะสามารถรับกฐินได้ เพราะกฐินคือผ้า ไม่ใช่เงินทอง ซึ่งทายก ทายิกา ของแต่ละวัดก็สามารถที่จะหาผ้ากฐินผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน มาทอดได้ โดยไม่ต้องใช้เงินทองจำนวนมาก จะทำให้เจ้าภาพและพระภิกษุได้รับอานิสงส์ของกฐิน ส่วนการทำบุญสังฆทานวิหารทานอื่นๆ สามารถทำได้ในโอกาสต่อไป"

 

ตอนที่ ๕ โทษของการทอดกฐิน โดยละเมิดพระธรรมวินัย

 
"๒๔. เจ้าภาพกฐินต้องไม่จัดเลี้ยงสุราเมรัยน้ำเมาทั้งหลาย เจ้าภาพกฐินต้องไม่ฆ่าสัตว์ มาทำเป็นอาหารเลี้ยงกันในงานบุญ เจ้าภาพกฐินต้องไม่มีอารมณ์โกรธฉุนเฉียว ดุด่าว่ากล่าวบุคคลอื่น ถ้ามีเหตุการณ์ดังกล่าว กฐินจะกลายเป็น กฐินบูด กฐินเน่า กฐินเศร้าหมอง ไม่เป็นที่อนุโมทนาของเทพพรหมเทวาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังนั้น เจ้าภาพกฐินต้องตั้งใจ น้อมใจ ให้กุศลจิตขึ้นมาทำงานอยู่เสมอ มีเจตนาทาน ที่พร้อมไปในกุศลทั้ง ๓ ประการ คือ
 

๑) บุพพเจตนา เจตนาก่อนการะทำเต็มไปด้วยกุศล อธิษฐานธรรม เป็นไปในมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑

๒) มุญจเจตนา (มุญจนเจตนา) เจตนาขณะกำลังกระทำ เต็มไปด้วยกุศล อธิษฐานธรรม เป็นไปในมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑

๓) อปรเจตนา (อปราปรเจตนา) เจตนาหลังกระทำแล้ว เต็มไปด้วยกุศล อธิษฐานธรรม เป็นไปในมัคค ๔ ผล ๔ พระนิพพาน ๑
    
 
งานบุญกฐินของท่านเจ้าภาพจะเต็มไปด้วยมหากุศล เป็นที่อนุโมทนาของเทพพรหมเทวา และมนุษย์ทั้งหลาย 
 
 
ข้อความมนย่อหน้าด้านล่างคัดลอกมาจาก  http://www.watphrasri.org/index.php?option=com_content&view=article&id=116:2010-10-03-13-04-22&catid=13
 
"เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นมา ความหมาย คุณค่า ความสำคัญของประเพณีทอดกฐิน ตลอดจนจัดกิจกรรมได้ถูกต้องไม่เบี่ยงเบน ดังนั้นควร:

          
๑. จัดประชุมสัมมนา/เสวนา
  - ให้ความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นมา ความหมาย คุณค่า ความสำคัญของประเพณีทอดกฐิน


          
๒. รณรงค์ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์
  - ให้ความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นมา คุณค่า ความสำคัญของประเพณีทอดกฐิน ตลอดถึง กิจกรรมที่เบี่ยงเบนออกไป

  
       
๓. ถ้ามีโอกาสได้จัดกิจกรรมในการทอดกฐิน
  - ควรจัดให้ถูกต้องตามประเพณีและเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง สำหรับกิจกรรมที่เสริมประเพณี ทอดกฐินควรจัดให้เหมาะสมกับสภาพของท้องถิ่นและเอื้อต่อกันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล"
 
 
เอสารอ้างอิง และแนะนำให้อ่านเพิ่มเติม แหล่งข้อมูลของบทความเรื่อง ทอดกฐินอย่างไรให้ได้บุญ:

 
๑. คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. สำนักงาน. วันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย
และแนวทางในการจัดกิจกรรม . กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๓๗.

๒. คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. สำนักงาน. วัฒนธรรมกับการเสริมสร้างสังคมไทย
กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์, ๒๕๓๒
 
This work is licensed.  บทความนี้มีลิขสิทธิ์
อนุญาตให้ดาวน์โหลด คัดลอกบทความนี้และเผยแผ่เป็นธรรมทานต่อๆ ไปได้โดยไม่จำกัด ยกเว้นการนำไปใช้เชิงพานิชย์  ทั้งนี้กรุณาอ้างอิงถึงผู้เขียน และแหล่งที่มาคือ http://www.analaya.com
หากท่านต้องการนำไปดัดแปลง แก้ไข หรือต่อเติมเพื่อให้บทความนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นก่อนเผยแพร่ กรุณาเขียนว่า ดัดแปลงจาก พร้อมทั้งแจ้งผู้เขียนผ่านคอมเมนท์ในบทความด้วย 
ขอบคุณค่ะ
 
อนาลยา
 

Add comment


Security code
Refresh

Users
3943
Articles
271
Articles View Hits
3513171