มานะ

 
มานะ จิตที่ประกอบด้วย มานะ นั้นเป็นอกุศล....โดยวิรังอง ทัพพะรังสี
 

มานะ จิตที่ประกอบด้วย "มานะ" นั้นเป็นอกุศล คำว่ามานะในทางพระพุทธศาสนานั้นหมายถึง ธรรมชาติที่มีความเย่อหยิ่งอวดดีทะนงตัว เอาตนเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น  จึงต่างจากความหมายทางโลกๆ ที่มักใช้คำว่ามานะในความหมายที่เกี่ยวกับความเพียรพยายาม... เรามักจะได้ยินคนพูดว่า คนนั้นมีมานะดี หมายความว่ามีความพยายามดี หรือผู้ใหญ่สอนเด็กว่า ให้มีมานะ อย่าท้อถอย ก็หมายความว่าให้ขยัน ให้พากเพียรพยายาม ให้ตั้งใจ อย่าถ้อถอย    แต่ความหมายของคำว่ามานะที่จะกล่าวถึงวันนี้ คือ ความหมายทางธรรม...  มานะเป็นกิเลส เป็นนามธรรม เป็นอกุศลธรรม เป็นอกุศลเจตสิก ซึ่งเมื่อประกอบกับจิต จิตนั้นก็เป็นอกุศล ซึ่งมี ๓  หรือ ๙ อย่าง 

ถ้า ๓ ก็คือความสำคัญผิดว่า 

 

๑. ตนดีกว่าผู้อื่น   

๒. ว่าเสมอผู้อื่น   

๓. ว่าด้อยกว่าผู้อื่น  

 

แต่ถ้าว่าโดยละเอียดขึ้นไปก็มี ๙ คือ

 

๑.ดีกว่าเขา ก็สำคัญตัวว่าดีกว่าเขา 

๒.ดีกว่าเขา ก็สำคัญตัวว่าเสมอเขา 

๓.ดีกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา 

 

๔.เสมอเขา แต่สำคัญตัวว่าดีกว่าเขา 

๕.เสมอเขา ก็สำคัญตัวว่าเสมอเขา 

๗.เสมอเขา แต่สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา 

 

๗.เลวกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าดีกว่าเขา 

๘.เลวกว่าเขา แต่สำคัญตัวว่าเสมอเขา 

๙.เลวกว่าเขา ก็สำคัญตัวว่าเลวกว่าเขา 

 

ทั้งหมดที่กล่างข้างต้นนี้ล้วนเป็นความคิดความปรุงแต่งของจิต แต่ละคนก็ปรุงแต่งไปคนละทาง ตย. ว่า…เราคิดว่าเราเก่งกว่า ดีกว่าคนอื่นในที่ทำงาน แต่คนอื่นเขาอาจจะไม่ได้คิดเช่นนั้น คนอื่นเขาก็อาจจะคิดว่าเขาเก่งกว่าเราก็เป็นได้ หรือตัวอย่างท่ีเห็นได้ชัดคือ เวลาคนอกหักก็จะคิดปรุงแต่งโทษตนเองว่าเราไม่ดีเขาจึงไม่รักเราหรือทิ้งเราไป  ในทางตรงกันข้ามคนที่เขาทิ้งเราไปเขาอาจจะคิดปรุงแต่งไปอีกทางว่าเราดีเกินไปเขามันไม่มีอะรไดี หรืออีกนัยหนึ่งก็ปรุงแต่งเห็นอื่นดีกว่าเราจึงทิ้งเราไป 

 

หรือหรือในการปฏิบัติธรรม เราคิดว่าเราไปวัด เราอ่านธรรม ฟังธรรม เรากำลังทำความดี เราเป็นคนดี บางเวลาเราอาจจะหลงไปมองคนที่ไม่ปฏิบัติอย่างเราว่าเราดีกว่าเขา....หรือพบคนที่ดูเหมือนเขาเก่ง มีความรู้  เราก็มองอย่างยกย่องว่าเขาเก่งกว่าเรา เราไม่เก่งไม่มีความรู้เท่าเขา....

 

เหล่านี้ล้วนเป็นความเศร้าหมองของจิต แม้จิตที่คิดว่าเราดีกว่าเขาก็มีโลภะเป็นประธาน 

 

 

ส่วนผู้ได้เห็นแจ้งแล้วว่าเบญจขันธ์นี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ย่อมไม่มีอะไรที่จะไปเปรียบเทียบกับอะไร เพราะร่างกายและจิตใจทั้งหมดทั้งสิ้น....เป็นเพียงธรรมชาติที่เกิดขึ้นและดับไปตามเหตุปัจจัย มานะจึงเป็นเพียงสังขารปรุงแต่งของจิต

 

มานะนับเป็น ๑ ใน สังโยชน์เบื้องสูง  (อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ -ธรรมละะเอียดที่ร้อยรัดสัตว์ไว้กับกองทุกข์ในสังสารวัฏ)  ที่ต้องละ 

 

สังโยชน์เบื้องสูงนี้มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ละได้ แม้แต่พระอนาคามีก็ละได้เพียงสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕  ดังนั้นพระอรหันต์เท่านั้นที่ละมานะได้เพราะกิเลสทั้งปวงดับแล้วโดยสิ้นเชิง

 

ทราบดังนี้แล้วก็อย่างเพิ่งท้อใจว่า ยังเป็นเพียงปุถุชนคนธรรมดา แล้วเมื่อไรจะละมานะได้  คำตอบคือ สะสมไป.....อย่างเช่นวันี้เข้าใจแล้วว่ามานะเป็นเพียงความคิดความปรุงแต่ง เป็นอกุศลธรรมที่ละเอียดยิ่งนักและเกิดดับในจิตอยู่เสมอโดยที่อาจจะไม่เคยสังเกต....นักปฏิบ้ติจึงพึงกำหนดรู้เมื่อมานะเกิดขึ้น แล้วพิจารณาโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ กำหนดรู้บ่อยๆ พิจารณาบ่อยๆ ก็จะเป็นการค่อยๆ ขัดเกลาจิตให้ลดละมานะได้แม้จะเป็นการละโดยการคิดนึก ก็จะยังผลให้จิตมีคุณภาพขึ้น จากจิตที่เคยเป็นคนคิดปรุงแต่งตลอดเวลาโดยไม่ทราบเนื้อไม่ทราบตัว....ก็จะปรุงแต่งน้อยลงเมื่อไม่เอาตนเอง หรือเอาใครไปเปรียบเทียบกับใคร...จิตย่อมเข้าถึงความสุขสงบได้มากขึ้น

 

วิรังรอง ทัพพะรังสี

๗ มิย. ๕๖

 

https://www.facebook.com/notes/วิรังรอง-ทัพพะรังสี-wirangrong-dabbaransi/มานะ-ตอนที่-๑/469731606445384

https://www.facebook.com/notes/วิรังรอง-ทัพพะรังสี-wirangrong-dabbaransi/มานะตอนที่-๒-/469732163111995

 

 
 
 

Add comment


Security code
Refresh

Users
3826
Articles
271
Articles View Hits
3435014