การนั่งสมาธิ เรียกว่าวิธีนั่งสมาธิ ให้นั่งเอาขาขวาทับขาซ้ายขัดสมาธิ เอามือซ้ายวางลงที่ตัก เอามือขวาวางทับ ให้หัวแม่มือจรดกันเบาๆ อย่าให้กด ตั้งกายให้ตรง คือนั่งให้รู้สึกว่ากายตรงให้เป็นที่สบาย อย่าเกร็งกล้ามเนื้อหรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย นั่งพอพยุงกายให้ตรงอยู่ อย่าให้เอียงซ้าย เอียงขวา อย่าก้มนัก อย่าเงยนัก ลองนั่งให้ตรง สง่าผ่าเผยเหมือนพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิ อันนี้เป็นวิธีนั่ง
ต่อไปเป็นวิธีกำหนดจิตคือ ทำความรู้สึกที่จิตของตนเอง ความรู้สึกอยู่ที่ตรงไหน จิตของเราก็อยู่ที่ตรงนั้น เพื่อจะให้จิตมีฐานที่ตั้ง ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้า หายใจออก จะนึกพุทพร้อมลมเข้า โธพร้อมลมออกก็ได้ หรือใครจะไม่นึกอะไร เพียงแต่กำหนดรู้ลมหายใจซึ่งออกเข้าอยู่โดยธรรมชาติของการหายใจก็ได้ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะเรียนให้รู้ธรรมชาติของร่างกาย
ทำไมลมหายใจจึงชื่อว่าเป็น ธรรมชาติของร่างกาย เพราะเหตุว่า เราจะตั้งใจก็ตาม ไม่ตั้งใจก็ตาม กายของเราก็หายใจอยู่โดยธรรมชาติ เพียงแต่เรากำหนดรู้ลมหายใจเฉยๆ อยู่ อย่าบังคับจิตให้สงบ แต่ประคองจิตให้รู้อยู่ที่ลมหายใจตลอดเวลา จิตของเราจะเป็นอย่างไร เราไม่คำนึงถึง คำนึงแต่ว่าจะรู้ที่ลมหายใจอย่างเดียว หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ หายใจสั้นรู้ หายใจยาวรู้ เพียงแต่เอารู้ตัวเดียว กำหนดรู้อยู่ที่ตรงนี้
การกำหนดรู้ลมหายใจเป็นหลัก สาธารณะทั่วไป และการปฏิบัติสมาธิก็เป็นหลักสาธารณะทั่วไป ไม่สังกัดในลัทธิและศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการฝึกสมาธินี้เราจะมาฝึกจิตของเราให้สามารถกำหนดรู้ธรรมชาติ การปฏิบัติธรรมหรือการเรียนธรรมก็คือเรียนให้รู้ธรรมชาติ วิชาการที่เราเรียนกันมาในศาสตร์ใดๆ ก็ตาม เป็นการเรียนรู้ธรรมชาติและกฎธรรมชาติทั้งนั้น การฝึกสมาธิไม่เฉพาะแต่เราจะมานั่งขัดสมาธิ หลับตากำหนดรู้ลมหายใจเพียงอย่างเดียว แม้ว่าเรามีสติรู้อยู่กับเรื่องชีวิตประจำวันทุกขณะจิต ทุกลมหายใจ ก็ชื่อว่าเป็นการฝึกสมาธิทั้งนั้น
แต่เพื่อจะให้มีวิธีการเข้ม ข้นเข้าไปหน่อย เราจึงมาฝึกกันแบบมีพิธีรีตองอย่างที่เรามาฝึกกันอยู่เวลานี้ นอกจากเราจะมากำหนดรู้ลมหายใจแล้ว เราอาจจะนึกพุทพร้อมลมเข้า โธพร้อมลมออกก็ได้ หรือเราจะท่องบริกรรมภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น พุทโธ สัมมาอรหัง ยุบหนอ พองหนอก็ได้ หรือเราจะกำหนดรู้จิต คอยจ้องดูจิตของเรา เมื่อความคิดอะไรเกิดขึ้นให้มีสติกำหนดตามรู้ไปก็ได้ เป็นวิธีการฝึกสมาธิทั้งนั้น การฝึกสมาธิดังที่กล่าวมานี้ เราสามารถจะทำได้ทั้งในท่านั่ง ท่ายืน ท่าเดิน ท่านอน ใช้อารมณ์อย่างเดียวกันเพราะสมาธิเป็นกิริยาของจิต การปฏิบัติสมาธิเป็นกิริยาของจิต ไม่ใช่การยืน เดิน นั่ง นอน แต่การยืน เดิน นั่ง นอนเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นการบริหารร่างกาย ว่าอย่างง่ายๆ ก็คือการออกกำลังกายนั้นเอง เพราะถ้าเรานั่งมากมันก็เมื่อยทรมานร่างกาย ต้องเปลี่ยนไปเดิน เดินมากทรมานก็เปลี่ยนเป็นยืน ยืนมากทรมานเปลี่ยนเป็นนอน เปลี่ยนอิริยาบถให้สม่ำเสมอเพื่อให้เกิดความคล่องกาย ในเมื่อกายของเราคล่องแคล่วว่องไว จิตของเราก็คล่องแคล่วว่องไวขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นยืน เดิน นั่ง นอนจึงเป็นท่าประกอบเท่านั้น แต่สมาธิที่แน่ๆ ก็คือกิริยาของจิต ดังนั้นเราจะปฏิบัติสมาธิในท่าไหนได้ทั้งนั้น ยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เพียงแค่มีสติสัมปชัญญะรู้พร้อมอยู่ ในขณะที่เราทำอะไรอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น เราทำสติตามรู้การยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด เป็นการเรียนให้รู้ธรรมชาติ ธรรมชาติของร่างกายย่อมมีการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด นักปราชญ์ไม่ว่าในศาสนาใดๆ ท่านสอนมนุษย์ให้รู้จักความเป็นของตัวเองในเบื้องต้น ในเมื่อรู้จักความเป็น รู้จักธรรมชาติของตนเองได้ถ่องแท้แน่นอน การที่จะไปเรียนรู้ธรรมชาตินอกตัวเองนั้น จึงเป็นของไม่ยากนัก
เพราะ ฉะนั้นท่านจึงสอนให้เรา เรียนให้รู้ธรรมชาติของตนเอง ธรรมชาติของร่างกายต้องมีการยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูดและคิด ธรรมชาติของจิตก็เป็นผู้มีหน้าที่คอยบังคับบัญชาสั่งให้ร่างกายทำอะไร และเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการทั้งปวงเพราะตนเองเป็นนาย ตนเองเป็นผู้สั่งการ สั่งการลงไปแล้วย่อมมีการรับผิดชอบจึงจะสมศักดิ์ศรีของผู้เป็นนาย
ดังนั้นในตัวของเรานี้ใจ เป็นนาย กายเป็นบ่าว การปฏิบัติธรรมจึงอาศัยกายกับจิตทั้ง 2 อย่างเป็นของคู่กัน เป็นหลักของการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นวิธีการทั้งหลายนั้น เป็นแต่เพียงวิธีการสำหรับประกอบการปฏิบัติ แต่แท้ที่จริงสมาธิ สมาธิเป็นกิริยาของจิต
ในขณะนี้เรามานั่งกำหนดรู้ลมหายใจ เรามาเรียนรู้ธรรมชาติของลมหายใจ แต่เรารู้อยู่ เราก็จะรู้ว่าธรรมชาติของกายย่อมมีการหายใจอยู่เป็นปกติขาดไม่ได้ เมื่อเรามีสติกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจ ลมหายใจยาวเราก็จะรู้ ลมหายใจสั้นเราก็จะรู้ ลมหายใจหยาบเรารู้ ลมหายใจละเอียดเรารู้ เอารู้ตัวเดียวเท่านั้น รู้นี่เป็นกิริยาของจิต ทุกคนมีจิตรู้กันทั้งนั้น ไม่เฉพาะแต่มนุษย์ สัตว์ก็มีจิตรู้ ทีนี้รู้ตัวนี้ไม่ได้สังกัดในลัทธิและศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น
ดังนั้นที่เรามาเรียนรู้ ธรรมชาตินี้ เพื่อจะให้รู้ความจริงของกฎธรรมชาติ เมื่อรู้ความจริงของธรรมชาติแล้ว ก็ควรจะรู้ความจริงของกฎธรรมชาติด้วย กฎของธรรมชาติทั้งหลายนั้น ธรรมชาติอันนี้เป็นกายกับใจ สถานการณ์และสิ่งแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ซึ่งเรียกว่าจักรวาลทั้งสิ้นนี่แหละเรียกว่าธรรมชาติ ทีนี้กฎของธรรมชาติก็คือการเปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ ตั้งแต่อนูปรมาณูจนกระทั่งมวลสารที่เกาะกลุ่มกันเป็นก้อนใหญ่โต เขาย่อมตกอยู่ในกฎของธรรมชาติคือมีความเปลี่ยนแปลง มีปรากฏการณ์ขึ้นในเบื้องต้น ทรงตัวอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ในที่สุดย่อมสลายตัว อันนี้เป็นหลักภาษาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสาธารณะทั่วไป ส่วนบทบัญญัติของภาษาอินเดีย ความเปลี่ยนแปลง เขาเรียกว่า อนิจจัง ความทนไม่ได้อยู่ตลอดกาลเขาเรียกว่าทุกขัง ความสลายตัว เขาเรียกว่า อนัตตา ภาษาไทยว่าไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ตลอดกาล ไม่เป็นตัวของตัว อันนี้เป็นคำสมมติบัญญัติเท่านั้น แต่แล้วโลกทั้งโลกนี้ยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ทรงอยู่ สลายตัว เกิดขึ้น ทรงอยู่ สลายตัว อันนี้ภาษาโลกที่เขานิยมใช้กันโดยทั่วๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาในหลักวิทยาศาสตร์เขาใช้กัน แต่พวกอินเดีย เขาใช้คำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ไทยเรียกว่าเปลี่ยนแปลง ยักย้าย ทนอยู่กับที่ไม่ได้ ไม่เป็นตัวของตัวคือสลายตัวอยู่ตลอดเวลา
ที่เรามาฝึกหัดสมาธิ เพียงแค่กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น เมื่อเรามีสติปัญญาเกิดขึ้น เราจะรู้ว่าลมหายใจนี้มันก็เปลี่ยนแปลงมีออกมีเข้าอยู่ตลอดเวลา เมื่อเห็นลมหายใจหยาบ ลมหายใจละเอียด เราก็รู้แต่ว่าลมหายใจมันเปลี่ยนจากหยาบเป็นละเอียด ละเอียดเป็นหยาบ แต่ในบางครั้งเมื่อจิตสงบเป็นสมาธิอย่างลึกซึ้งถึงขนาดกายหายไป ลมหายใจมันก็หายไปด้วยเพราะลมหายใจมันเป็นส่วนกายก็ยังเหลือแต่จิตสงบ นิ่ง เด่นรู้ สว่างอยู่ ใครภาวนาแบบไหนอย่างไรพอจิตสงบลงเป็นสมาธิแล้วก็นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน ใครทำก็ได้ ถ้าทำจริง ไม่เฉพาะแต่ชาวพุทธผู้นับถือ พระพุทธศาสนา คนในศาสนาอื่นทำก็ได้ คนไม่มีศาสนาทำก็ได้ ในเมื่อทำลงไปแล้ว จิต สงบ นิ่ง สว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน ใครจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่จะสมมติบัญญัติ รู้เป็นธรรมชาติของจิต จิตเป็นธาตุรู้ จิตมีสภาวะรู้สึก รู้นึก รู้คิด แต่ถ้าขาดสติสัมปชัญญะจะไม่รู้จักดี จักชั่ว ไม่รู้จักผิด ไม่รู้จักถูก เพราะสติสัมปชัญญะของเรายังอ่อน เราจึงมาฝึกสมาธิเพื่อให้สติเพิ่มพลังเข้มแข็งขึ้น จะได้กำหนดรู้สิ่งต่างๆ ให้รู้จริงตามกฎของธรรมชาติ
ทีนี้ กฎธรรมชาติทั้งหลาย เหล่านี้ที่มันเกี่ยวข้องกับเรา เมื่อเราไปยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นเราเป็นเขา เป็นของเราของเขา สิ่งที่เราถือว่าเป็นเราเป็นเขา เป็นของเราของเขานั้น เมื่อหากว่าสิ่งนั้นเป็นไปในทางที่เราไม่พอใจ เราก็เกิดทุกข์เพราะเราเอาความรู้สึกของเราไปขัดอยู่กับความเป็นไปของกฎธรรมชาติ
ดังนั้น นักปราชญ์ไม่ว่าในลัทธิและศาสนาใดๆ จึงสอนให้ทุกคนให้เรียนรู้กฎของธรรมชาติ เผื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงธรรมชาติบางอย่างซึ่งพอที่จะเป็นไปได้ให้อยู่ในสภาพ ที่เป็นไปตามความต้องการของเรา เครื่องยนต์ เครื่องกลทั้งหลายต่างๆ วัตถุดั้งเดิมเขาเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ในดิน ในน้ำ แต่ผู้ฉลาดไปค้นคว้าคิดเอามาสร้างนู่นสร้างนี่ สร้างรถยนต์ สร้างเครื่องบิน สร้างจรวด สร้างปรมาณู นิวเคลียร์ เอามาเป็นพลังงานสำหรับเป็นเครื่องปฏิกรต่อชีวิตหรือทำลายซึ่งกันและกัน
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ดั้งเดิมวัตถุมาจากธรรมชาติ แต่ผู้ที่มีความฉลาดเฉลียว ก็สามารถเอามาดัดแปลงแต่งเป็นโน่นเป็นนี่ให้ใช้ในประโยชน์แก่ชีวิตของเราได้ ทีนี้ธรรมะอันเป็นธรรมชาติส่วนหนึ่งซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเป็นรูปธรรม นามธรรม เราก็สามารถที่จะฝึกฝนอบรมสร้างสมรรถภาพให้เข้มแข็ง มีพลังทางสติปัญญาเพื่อเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตประจำวัน เป็นการดัดแปลงธรรมชาติเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ อันนี้เป็นวิสัยของมนุษย์จะต้องเป็นไปอย่างนั้น มนุษย์จะปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามบุญตามกรรมเหมือนอย่างสัตว์เดรัจฉานนั้น มันก็ย่อมไม่สมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ดังนั้นมนุษย์จึงมีการ สร้าง แก้ไข เปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของตนเอง สุดแล้วแต่ความสามารถสติปัญญาของผู้ใดจะสามารถทำได้ แม้เราไม่ได้คำนึงถึงการที่จะสร้างวัตถุ แต่เรามาสร้างพลังจิตพลังใจของเราให้มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา แก้ไขปัญหาชีวิตประจำวันปรับปรุงชีวิตของเราให้เป็นอยู่ได้สบายในสังคม ก็เป็นการเพียงพอสำหรับการปฏิบัติธรรม
ดังนั้นการทำสมาธินี้จึงเป็นอุบายวิธีอันหนึ่งเพื่อสร้างพลังดัง ที่กล่าวมาแล้วนั้น เพื่อสร้างจิต สร้างใจ สร้างชีวิตของเราให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น เราจะได้สามารถทำธุรกิจการงานต่างๆ ด้วยความมั่นใจ ด้วยความมีสติสัมปชัญญะ เพื่อเป็นการสร้างสรรชีวิตของตนเองและสังคม ให้มีความเจริญมั่นคงสืบไป
ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลาย จงตั้งใจฝึกฝนอบรมเอาให้ได้ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ต้องอาศัยสมาธิทั้งนั้นแหละ พวกทำสมาธิส่วนใหญ่ก็มุ่งสู่พระนิพพาน แต่เมื่อเรายังไม่ถึงพระนิพพาน เราก็ต้องหาเอาประโยชน์ในระหว่างทางให้ได้ ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงพึงกำหนดจิตรู้ ลมหายใจออก หายใจเข้า กำหนดรู้อยู่เฉยๆ ในช่วงที่ท่านกำหนดรู้ลมหายใจอยู่ ถ้าหากมีอาการเคลิ้มๆ เหมือนกับง่วงนอน ก็ให้มีสติกำหนดรู้อยู่เฉยๆ หากมีการรู้สึกอึดอัดหรือหนักหน่วงตรงต้นคอ หรือเวียนศรีษะ ก็กำหนดรู้อยู่เฉยๆ กำหนดรู้ลมหายใจไว้เป็นหลัก ถ้าหากว่าจิตปล่อยวางลมหายใจ จิตมีอาการเคลิ้มวูบวาบลงไป ถ้าไปคิดสิ่งอื่นขึ้นมา ก็ควรปล่อยให้คิดไป แต่ให้มีสติตามรู้ไปทุกขณะที่จิตมีความคิด ให้ปฏิบัติสลับกันไปอย่างนี้ พยายามทำให้มากๆ อบรมให้มากๆ ในขณะที่ปฏิบัติอยู่ อย่าไปบังคับจิตให้สงบ หน้าที่ของเรากำหนดรู้ลมหายใจและอารมณ์ภาวนาอยู่เท่านั้น เมื่อใดจิตจะสงบก็อย่าไปคิด เมื่อใดจะรู้จะเห็นก็อย่าคิด ให้รู้อยู่ที่สิ่งรู้ในปัจจุบันเท่านั้น
ความสงบของจิตก็ปล่อยให้ เป็น เรื่องของจิตไป ความรู้ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของจิตไป ส่วนความรู้สึกในความตั้งใจ จิตจะรู้หรือไม่รู้ ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ตรงที่กำหนดรู้อารมณ์จิตในขณะนี้ แล้วเมื่อเรากำหนดรู้อารมณ์จิตในขณะนี้ จิตของเราก็จะมีความสัมพันธ์กับอารมณ์จิตเอง เมื่อมีอารมณ์สัมพันธ์กับจิต จิตมีอารมณ์เป็นสิ่งที่กำหนดรู้อยู่ อารมณ์กับจิตไม่พรากจากกัน เราจะกำหนดก็ตาม ไม่กำหนดก็ตาม เราก็รู้อารมณ์จิตของเราอยู่อย่างนั้น นั่นแสดงว่าจิตได้วิตก มีสติรู้อยู่ได้วิจาร ถ้าเกิดมีปีติ สุข เอกคักตาก็ได้ปีติ สุข เอกคักตา ถ้าจิตเสวยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกคักตาอยู่เป็นเวลานานๆ ก็ได้ปฐมฌาน คือ ฌานที่ 1 อันนี้เป็นวิธีการนั่งสมาธิ ปฏิบัติสมาธิในท่านั่ง
ทีนี้ปฏิบัติสมาธิในท่า เดินเรียกว่าเดินจงกรม ก็กำหนดอารมณ์อย่างเดียวกับการนั่ง ปฏิบัติสมาธิในท่าเดินเรียกว่าเดินสมาธิ ปฏิบัติสมาธิในท่ายืนเรียกว่ายืนสมาธิ กำหนดอารมณ์อย่างเดียวกัน เวลานอน นอนสีหไสยาสน์ นอนตะแคงข้างขวา เอาเท้าซ้ายเหลื่อมเท้าขวานิดหน่อย วางมือแนบกับใบหน้า จะพนมมือก็ได้
Credit: http://www.thaniyo.net/