× เรื่องเกี่ยวกับหลักธรรม คำสอนในทางพระพุทธศาสนา

การปาณาติบาต

18 Nov 2011 08:08 #116 by ผิง
ทำไมการฆ่าตัวเองตายถึงไม่เป็นปาณาติบาตคะ
รบกวนขอความรู้จากผู้รู้ด้วยค่ะขอบคุณค่ะ

Please Log in or Create an account to join the conversation.

29 Nov 2011 05:34 - 07 Dec 2011 13:06 #121 by analaya
เพื่อตอบกระทู้นี้ ขออ้างอิงตาม พระวินัยปิฎก เล่ม ๘ ปริวาร - คาถาสังคณิกะ - วิเคราะห์ปาราชิก เป็นต้น โดยการยกส่วนหนึ่งของสิกขาบทที่ว่าด้วยปาราชิกข้อ ๓. คือ ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องปาราชิก ดังนี้ค่ะ

".....ในสิกขาบทนี้ มีประเด็นคำถามที่น่าสนใจว่า การฆ่าคนอื่นตายนั้นเป็นบาป และต้องอาบัติปาราชิกซึ่งเป็นอาบัติที่หนักที่สุด แต่ถ้าฆ่าตัวตายจะเป็นบาปหรือต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่

ในประเด็นคำถามนี้ สิ่งแรกที่จะต้องมาวิเคราะห์ คือคำว่า ?ปาณะ? ในคําว่า ?ปาณาติบาต? หมายถึง ?ตัวเราเอง? ด้วยหรือไม่ ?

ในคัมภีร์วิมติวิโนทนีได้ชี้ชัดเอาไว้ว่า ปาณาติบาตกรรม ย่อมไม่มีแก่ผู้ที่ฆ่าตัวเองตายโดยแน่นอน เพราะขาดองค์ปาณสัญญิตาที่ว่า ?สัตว์มีชีวิต ในสัตว์อื่น ๆ ที่นอกจากตน?

เนื้อความจากคัมภีร์ทําให้ได้พบคําตอบที่น่าสนใจก็คือว่า ?การที่ฆ่าตัวตายไม่ถือว่า ?ผิดศีลข้อปาณาติบาต? เพราะไม่เข้าเกณฑ์ที่จะนํามาวินิจฉัยนั่นก็คือ ?ปาณสญฺญิตา? ?ปาณสญฺญิตา? หมายถึง ?รู้ว่าสัตว์มีชีวิต? คําว่า ?รู้? หมายถึง ?ใครรู้? คําตอบก็คือ ?เรารู้? รู้อะไร? รู้ว่าสิ่งที่เราเห็นหรือสัมผัสด้วยจักษุประสาทนั้น ?เป็นสิ่งที่มีชีวิต? สิ่งมีชีวิตในบริบทนี้คืออะไร? คัมภีร์ระบุว่า ?สัตว์อื่น ๆ ทุกชนิด ยกเว้นตัวเราเอง?

ประเด็นปัญหาที่น่าสังเกตก็คือ หากจะวิเคราะห์จากบริบทนี้ก็คือว่า การบอกว่า ?ปาณะ? ในคําว่า ?ปาณสญฺญิตา? ไม่ได้หมายถึง ?ตัวเราเอง? แล้ว คําว่า ?ปาณะ? ในคําว่า ?ปาณาติบาต? ก็ไม่ได้หมายถึง ?ตัวเรา? เองด้วยเช่นกัน

ภิกษุฆ่าตัวตายต้องอาบัติปาราชิกหรือไม่ หลักฐานสําหรับวินิจฉัยในเรื่องนี้ปรากฏในตติยปาราชิกก็คือ เกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงปรับอาบัติแก่พระภิกษุที่ฆ่าตัวตายตามที่ จากหลักฐานตามที่ปรากฏคือว่า เมื่อพระองค์ทราบความจริง ได้ทรงตําหนิว่าการกระทํานี้ไม่สมควรแก่สมณเพศ หลังจากนั้น จึงได้ปรับอาบัติปาราชิกแก่พระภิกษุที่ฆ่ารูปอื่นตาย แต่ในขณะเดียวกัน พระองค์ก็ไม่ได้ปรับอาบัติแก่พระภิกษุที่ฆ่าตัวตายแต่ประการใด เนื่องจากภาวะของภิกษุนั้น ได้ขาดลงพร้อม ๆ กับความตาย

ประเด็นต่อมาถามว่า การฆ่าตัวตายผิดธรรมหรือไม่? ในทัศนะของพุทธศาสนาจะตอบว่า ?ผิดธรรม? หรือไม่นั้น บทสรุปก็คือ ต้องถามว่า ?จิตก่อนตายของเขาเป็นอย่างไร?? ถ้ามีสติอยู่ตลอดเวลา จิตไม่ได้ ขุ่นมัวกับกิเลสต่าง ๆ ก็จะพบว่า การหาทางออกด้วยวิธีนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการผิดธรรมแต่ประการใด แต่ถ้าเมื่อใดจิตขุ่นมัว กลัดกลุ้ม เศร้าหมอง ก็ผิดธรรม ดังที่ได้กล่าวแล้วการกระทําทางกาย วาจา และใจ ในกรณีใด ๆ ก็ตาม ที่ไม่ประสานสอดคล้องกับความดีสูงสุด หรือไม่สามารถที่จะนําไปสู่เป้าหมายสูงสุดได้ การกระทํานั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการ ?ผิดธรรม? ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ?ธรรม? จะตามรักษาผู้ที่ประพฤติธรรมให้เข้าถึงความจริงสูงสุด เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์มีการกระทําที่ไม่สอดคล้องกับธรรมหรือฝืนธรรม ความเศร้าหมองทางกาย วาจา และใจก็จะเกิดขึ้น

จากกรณีคําถามที่นี้ มีตอบแบ่งออกเป็น ๒ ประเด็น กล่าวคือ บางกรณีผิดธรรม และบางกรณีไม่ผิดธรรม
๑) กรณีใดที่จัดได้ว่าผิดธรรม มีกรณีศึกษาในสมัยพุทธกาลนั้น จากการศึกษาเกี่ยวกับการตัดสินใจฆ่าตัวตายตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฏก และอรรถกถานั้น พบว่า พระภิกษุรูปหนึ่งเกิดความเบื่อหน่าย จึงขึ้นภูเขาคิชฌกูฏแล้วกระโดดหน้าผาทับช่างสานคนหนึ่งตาย ผลจากการกระทําดังกล่าว จึงเกิดความกังวลใจว่า เราอาบัติปาราชิกจะอาบัติปาราชิกหรือไม่ จึงเข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์ถามว่า เธอคิดอย่างไร ภิกษุก็ตอบว่า ข้าพระองค์มิได้ประสงค์จะฆ่าเขา พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เธอไม่เป็นอาบัติปาราชิก อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงทําตนเองให้ตกล่วงไป ภิกษุใดทําตนให้ตนล่วงไป ภิกษุนั้นต้องอาบัติทุกกฏ

เมื่อประเมินจากกรณีศึกษาดังกล่าวนี้จะพบว่า พระพุทธเจ้าทรงปรับอาบัติพระภิกษุรูปนี้ฐานจงใจ (สจิตกะ) ที่พยายามจะฆ่าตัวตายประเด็นที่ว่า ?การจงใจพยายามที่จะฆ่าตัวแต่ไม่ตาย? ของพระภิกษุรูปนี้ นอกจากจะเป็นการผิดวินัย หรือผิดศีลของพระภิกษุอันเป็นที่มาของความเศร้าหมอง หรือความขุ่นมัวของศีลแล้ว เมื่อนําเกณฑ์ที่ว่าด้วยการดํารงชีวิตอย่างมีคุณค่าตามทัศนะของพระพุทธศาสนามาประเมินแล้วจะพบว่า การฆ่าตัวตายของท่านนั้นแสดงให้เห็นว่า ท่านมิได้ใช้ปัญญาในการดําเนินชีวิต เนื่องจากมิได้ฝึกฝนพัฒนาตนเองตามกรอบที่พระพุทธเจ้าได้วางเอาไว้ จึงทําให้ท่านถูกกิเลสครอบงําจิตใจ และเมื่อเป็นเช่นนั้น การพยายามที่จะฆ่าตัวตายนั้น ยังเป็นความพยายามที่จะตัดโอกาสไม่ให้ชีวิตของตนเองได้เข้าถึงความจริงสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาด้วย

๒) กรณีใดที่จัดได้ว่าไม่ผิดธรรม? การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งแสวงหาทางออกให้กับตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายโดย ?ไม่ผิดธรรม? นั้น จะย้อนกลับ ไปดูกรณีศึกษาตั้งแต่สมัยพุทธกาลก่อน ดูกรณีของพระฉันนะ และ กรณีของพระโคธิกะ ซึ่งอาพาธแล้วฆ่าตัวตาย แต่ก่อนตายท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทําให้จิตของท่านดับไปพร้อมกับการบรรลุธรรมขั้นสูงของพระพุทธศาสนา

3. ประเด็นคำถามต่อมาว่า การฆ่าตัวตายจัดได้ว่า ?เป็นบาป? หรือไม่? ประเด็นนี้ตามหลักพุทธศาสนานั้น ขึ้นอยู่กับวาระจิตก่อนที่จะดับลงของแต่ละบุคคล? กล่าวคือ ก่อนที่คนฆ่าตัวตายจะสิ้นชีวิตนั้น จิตของเขาเสวยหรือประสบกับอารมณ์ในลักษณะใด อารมณ์ของจิตเหล่านั้นก็จะเป็นตัวประเมินค่าว่า ?บาปหรือไม่? ในขณะที่เขาฆ่าตัวตายนั้น จิตขุ่นมัว หรือประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ พลาดหวัง หดหู่หรือสิ้นหวังหรือไม่ หากจิตของบุคคลที่ฆ่าตัวตายอยู่ในลักษณะนี้ก็ถือว่า การฆ่าตัวตายของเขานั้น ?เป็นบาป? ?จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคฺคติ ปาฏิกงฺขา? แปลว่า ?เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้ว สุคติเป็นอันหวังได้?

ฉะนั้น วาระจิตก่อนที่จะตายนั้น เสวยอารมณ์ใด อารมณ์นั้นจะส่งผลต่อปฏิสนธิจิตให้ไปเกิดในภพภูมิต่าง ๆ พระอริยบุคคลทั้ง ๗ จําพวกจะยังไม่หมดกิเลส แต่ท่านเหล่านี้ก็ถือได้ว่าเข้าสู่กระแสแห่งพระนิพพาน จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่จะแก้วิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยการเลือกแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย จะเห็นว่า เมื่อร่างกายยังคงอยู่ ท่านเหล่านั้นก็จะอาศัยประโยชน์จากร่างกาย เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพยายามเข้าถึงความจริงสูงสุดของพระพุทธศาสนา ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจอยู่

?กรรมใดที่ทำด้วยโลภะ ...โทสะ...โมหะ...เกิดจาก โลภะ..โทสะ...โมหะ..เป็นต้นเหตุ เป็นตัวก่อกำเนิด กรรมนั้นเป็นอกุศล กรรมนั้นมีโทษ กรรมนั้นมีทุกข์เป็นผล กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไปไม่เป็นไปเพื่อดับกรรม ?กรรมใดที่ทำด้วยอโลภะ ...อโทสะ...อโมหะ...เกิดจาก อโลภะ..อโทสะ...อโมหะ..เป็นต้นเหตุ เป็นตัวก่อกำเนิด กรรมนั้นเป็นกุศล กรรมนั้นไม่มีโทษ กรรมนั้นมีสุขเป็นผล กรรมนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความดับกรรม ไม่เป็นไปเพื่อเกิดกรรมต่อไป?

ฉะนั้น การที่พระอริยบุคคลทั้ง ๗ จําพวกนั้น จะทําลายร่างกายซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในก้าวข้ามไปสู่ความพ้นทุกข์นั้น จึงมิใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสําหรับบุคคลที่ได้ชื่อว่า ?เข้าสู่กระแสแห่งพระนิพพาน?

แต่จากตัวอย่างของพระโคธิกะนั้น ท่านก็ยังมิได้เป็นพระอริยบุคคลแต่ประการใดหากแต่ได้บรรลุเพียงขั้นฌานเท่านั้นเอง จะเห็นว่าในขณะที่พระโคธิกะ และพระฉันนะอาพาธอย่างหนัก และมองเห็นความทุกข์ที่เกิดจากอาพาธที่ไม่สามารถเยียวยาให้หายขาดได้ จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย ย่อมเป็นที่แน่ชัดว่า การเลือกของพระภิกษุทั้งสองรูปดังกล่าวนั้น แม้การฆ่าตัวตายจะทําให้บรรลุธรรมชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา พร้อม ๆ กับการสิ้นลมหายใจของท่าน

แต่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ การเลือกในเบื้องต้นของท่านนั้น สภาพจิตถูกปนเปื้อนด้วยกิเลส ซึ่งหมายถึงความไม่พึงพอใจต่อสังขารของตัวเอง จนนําไปสู่การเลือกที่จะไม่มีชีวิตอยู่หรือไม่ เมื่อวิเคราะห์จากสภาพการณ์ในเบื้องต้นเราจะพบคําตอบว่า ความไม่พึงพอใจ ความทุกข์ใจ จนนําไปสู่การไม่ปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่นั่นเองคือสภาพจิตที่ถูกกิเลสครอบงํา ฉะนั้น บทสรุปของพระภิกษุทั้งสองรูปดังกล่าวก็คือ จิตในวาระแรกของการเลือกที่จะฆ่าตัวตาย และพยายามหาวัตถุมาทําร้ายตัวเองนั้น ล้วนถือได้ว่าเป็นอาบัติทุกกฎในทุก ๆ ย่างก้าวของการพยายามที่จะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อจิตของท่านขึ้นสู่วิถีก่อนที่จะตาย หรือจิตเข้าสู่ ?มรณาสันนชวนจิต? ท่านกลับใช้วิกฤติให้เป็นโอกาส กล่าวคือ ผลจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมาอย่างต่อเนื่อง ท่านได้พิจารณาทุกขเวทนาอันเกิดจากบาดแผลที่คอของท่านนั้น กําหนดเป็นอารมณ์กรรมฐาน ทําให้จิตของท่านดับไปพร้อมกับการบรรลุธรรมขั้นสูงของพระพุทธศาสนา

ด้วยเหตุดังกล่าวนั้น เมื่ออธิบายภายใต้กรอบของกรรมที่เนื่องด้วยปฏิจจสมุปบาทจะพบว่าการกระทํากรรมของพระภิกษุทั้งสองรูป จึงไม่จําเป็นที่จะต้องไปรับผลของกรรมในภพต่อไป เนื่องจากกิเลสของท่านดับไปพร้อม ๆ กับการดับไปแห่งขันธ์ ๕ ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ หากทั้งสองรูปดังกล่าว ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงในขณะที่ฆ่าตัวตายนั้น ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า การเลือกฆ่าตัวตายด้วยสภาพจิตที่ถูกปกคลุมด้วยกิเลสนั้น ท่านย่อมไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการไปเกิดในทุคติภูมิได้ เนื่องพุทธพจน์ดังที่กล่าวในเบื้องต้นว่า ?เมื่อสภาพจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้?

แต่ในกรณีของปุถุชนโดยทั่วไปนั้น ย่อมเป็นการยากที่จะฆ่าตัวตายในสภาพจิตที่ไม่ถูกเจือไปด้วยกิเลส เนื่องจากว่า กิเลส กล่าวคือ ราคะ โทสะ และโมหะนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่ และนอนเนื่องอยู่ในจิตของปุถุชน ฉะนั้น จะเห็นว่า การตัดสินใจฆ่าตัวตายในขณะที่ทุก ๆ วาระจิต กล่าวคือ ก่อนที่จะฆ่าตัวตาย ขณะที่พยายามฆ่าตัวตาย และดวงจิต ก่อนที่จะดับไปนั้น ถูกกิเลสครอบงําอยู่ตลอดเวลา ปฐมจิตของการตัดสินใจฆ่าตัวตายนั้น มนุษย์ทุกคนจะมีกิเลสเป็นตัวผลักดันให้เขาต้องสร้างกรรม หรือกระทําการฆ่าตัวตาย และผลจากการที่มนุษย์ตายลงในขณะที่จิตถูกปกคลุมด้วยกิเลสอยู่ตลอดสาย หรือตลอดวาระจิตของการตัดสินใจฆ่าตัวตาย กล่าวคือ การคิดที่จะฆ่าตัว การพยายามลงมือฆ่าตัวตาย และก็ตายลงพร้อม ๆ กับการพยายามนั้น มนุษย์ก็ต้องรับผลแห่งกรรมโดยการไปเกิดในทุคติภูมิต่อไป ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุป การฆ่าตัวตายของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะหนีพ้นกฎแห่งวัฏฏะ ๓ กล่าวคือ กิเลส กรรม และวิบากไปได้ กล่าวคือ เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนนั้น ยังมีสภาพจิตที่ถูกปกคลุมไปด้วยกิเลสในลักษณะต่าง ๆ และกิเลสที่ดํารงอยู่ภายในจิตของมนุษย์นั้นได้ผลักให้มนุษย์หนีปัญหา หรือวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และไม่สามารถที่จะยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นได้ (กิเลส) จึงตัดสินใจเลือกทางออกของปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย (กรรม) และผลจากการเลือกที่จะฆ่าตัวตายของมนุษย์แต่ละคนนั้นซึ่งมีสภาพจิตที่ถูกปกลุมด้วยกิเลสนั้น จึงทําให้มนุษย์จํ าเป็นต้องไปเกิดในอบายภูมิต่อไป (วิบาก)

แต่กรณีของพระฉันนะ และพระโคธิกะนั้น ถือได้ว่า เป็นกรณีที่ค่อนข้างจะน่าสนใจ เพราะผลจากการที่ท่านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน พิจารณาเวทนาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จึงทําให้ท่านเข้าถึงความจริงจากการฆ่าตัวตาย แม้ว่าเบื้องต้นจะมีสภาพจิตถูกกิเลสครอบงําก็ตาม เราจะเห็นว่า การหาทางออกของพระโคธิกะ หรือพระฉันนะ เป็นการเลือกที่จะฆ่าตัวตาย บนฐานของสภาพจิตที่บรรลุฌานในระดับใดระดับหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา

แต่หากพุทธศาสนิกชนบางคนที่ยังเป็นปุถุชนจะใช้ข้ออ้างจากกรณีของพระเถระทั้งสองรูป และตัดสินใจฆ่าตัวตาย โดยมองว่า ท่านทั้งสองสามารถที่จะทําเลือกที่จะฆ่าตัวตายได้ การยกกรณีของพระเถระทั้งสองมาเป็นฐานในการเลือกของปุถุชนนั้น ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อปัญหาในเชิงศีลธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่ออยู่ในฐานะของปุถุชน เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า การฆ่าตัวตายของเรานั้น จะทําให้การฆ่าตายนั้นดํารงอยู่บนฐานของความบริสุทธิ์ทางใจโดยไม่ได้ถูกกิเลสครอบงํา เพราะเมื่อกล่าวถึงคําว่า ?ปุถุชน? นั้น หมายถึงผู้ที่ยังหนาไปด้วยกิเลส เมื่อมนุษย์ที่เป็นปุถุชนเลือกที่จะฆ่าตัวตายท่ามกลางสภาพจิตที่หนาไปด้วยกิเลส ย่อมทําให้การฆ่าตัวตายด้วยสภาพจิตที่สงบ สะอาดสว่างนั้น เป็นสิ่งที่ทําได้ยากอย่างยิ่งในขณะเดียวกัน การฆ่าตัวตนเองบนฐานของความไม่พร้อมในแง่มุมต่างๆ กล่าวคือสภาพจิตของตัวเองถูกครอบงําด้วยโลภะ โทสะ หรือโมหะนั้น ครอบครัวของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่บิดา มารดา ต้องเจ็บปวด และร้องไห้ครํ่าครวญต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตายของเขา ลูก ๆของเขาต้องไร้ที่พึ่งพาอาศัย ฉะนั้น การฆ่าตัวตายในบรรยากาศเช่นนี้ เป็นสิ่งที่พุทธจริยศาสตร์ เห็นว่าไม่ควรที่บุคลใดบุคคลหนึ่งจะเลือกกระทําอย่างยิ่ง สาเหตุก็เพราะว่า การฆ่าตัวตายของเขาในสภาพการณ์เช่นนี้ นอกจากจะทําให้เขาไปเกิดในทุคติภูมิแล้ว ยังทําให้บุคคลอื่น ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องประสบกับความทุกข์ในลักษณะต่าง ๆ

อนาลยา

Please Log in or Create an account to join the conversation.

07 Dec 2011 06:45 #128 by ผิง
ขออนุโมทนาในความรู้ที่มอบให้ ขอบคุณมากค่ะ (-/\-)

Please Log in or Create an account to join the conversation.

Time to create page: 0.289 seconds
Users
3429
Articles
271
Articles View Hits
3179829