เกี่ยวกับอนาลยา

อนาลยา Hits: 32307

Lotus

 

 

ทำความรู้จักอนาลยา

คำว่า อนาลยา มาจากภาษาบาลีว่า อนาลโย

ความหมาย

อนาลโย มีความหมายตามที่ระบุไว้ในปทานุกรม บาลี ไทย อังกฤษ สันสกฤต ฉบับพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พุทธศักราช ๒๕๑๒ ว่า หากังวลมิได้ หรือ หาอาลัยมิได้ ภาษาอังกฤษ  ท่านเขียนว่า analayo และให้คำแปลไว้ว่า free  from attachment or desire

ที่มาของอนาลยาดอทคอม

เมื่อ ครั้งที่ได้เข้าอบรมวิปสสนากรรมฐาน ณ ยุวพุทธิกสมาคมฯ ในปีพ.ศ ๒๕๔๙ โดยมีพระอาจารย์ปสันโน ภิกขุ เจ้าอาวาสวัดอภัยคีรี (ประเทศสหรัฐอเมริกา) เป็นพระวิปัสสนาจารย์  วันหนึ่ง ขณะทำวัตรสวดมนต์เป็นภาษาบาลี แล้วแปลเป็นไทย  ก็ได้พิจารณาทำความเข้าใจในพระธรรมตามบทที่สวดอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งในความหมายที่พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องอริยสัจธรรม ๔  มีปริวัฏฏ์ ๓  อาการ ๑๒   โดยเฉพาะเมื่อถึงบทที่ว่า

"อิทัง โข ปะนะ ภิกขเว ทุกขนิโรโธ อะริยะสัจจัง"
"ดูก่อน  ภิกษุทั้งหลาย  ก็อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ทั้งสิ้นนี้  มีอยู่"
"โย ตัสสาเยวะ  ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ"
"นี้คือความดับสนิทเพราะจางไปโดยไม่มีเหลือของตัณหานั้นเอง"
"จาโค"
"เป็นความสลัดทิ้ง"
"ปะฏินิสสัคโค"
"เป็นความสละคืน"
"มุตติ"
"เป็นความปล่อย"
"อะนาลโย"
"เป็นความทำไม่ให้มีที่อาศัยซึ่งตัณหานั้น

เมื่อถึงตรงนี้ ข้าพเจ้าหยุดสวดมนต์แล้วทวนในใจหลายต่อหลายรอบว่า
"อะนาลโย  แปลว่า  เป็นความทำไม่ให้มีที่อาศัยซึ่งตัณหานั้น  เป็นความทำไม่ให้มีที่อาศัยซึ่งตัณหานั้นๆ  ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ"

ขณะนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า  ช่างเป็น ประโยคที่อธิบายจุดมุ่งหมายของการปฏิบัติในพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจนโดยแท้ เพราะสภาวะของ "ความทำไม่ให้มีที่อาศัยซึ่งตัณหา" นั้นก็คือ "นิโรธ" นั่นเอง   อะนาลโยจึงหมายถึงนิโรธ (ความดับทุกข์)  คำบาลีว่า "อะนาลโย" ก็ฟังแล้วแสนจะไพเราะอ่อนโยน

นิโรธ นั้นเป็น "ผล" ของ การปฏิบัติ  เมื่อได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานอย่างต่อเนื่อง และถูกต้องจนถึงที่สุด  ตัณหาย่อมไม่มีที่อาศัย สภาพของจิตเดิมที่ประภัสสร ปราศจากกิเลสตัณหาย่อมปรากฏ มีเพียงสภาพรู้ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สงบ สงัด แต่สว่างไสว

ความหมายของคำว่าอะนาลโย ที่ว่า "เป็นความทำไม่ให้มีที่อาศัยซึ่งตัณหานั้น" แม้จะหมายถึงสภาพของ นิโรธ ซึ่งเป็น "ผล" ของการปฏิบัติ   เมื่อพิจารณาแล้วก็ยังทำให้เข้าใจถึง "ทางเดิน" หรือ "เหตุ" ที่จะนำไปสู่ "ผล" นั้นด้ว

เมื่อ "ผล" คือความไม่มีที่อาศัยของตัณหา การปฏิบัติอย่างไรเล่าที่จะเป็นการ "ทำเหตุให้ถูกต้อง" เป็นไปในการขัดเกลาตนเองเพื่อลด ละ สละ คลายตัณหาอุปปาทานจนทำให้กิเลสตัณหาไม่มีีที่อาศัย   ก็ "อริยมรรคมีองค์แปด" นั่นเอง

หลังจากข้าพเจ้าออกจากคอร์สกรรมฐานแล้ว  ข้าพเจ้าได้กราบเรียนพระอาจารย์ปสันโนว่า ข้าพเจ้ามีความรู้สึกซาบซึ้งในความหมายของคำว่า "อะนาลโย" และกราบเรียนถามท่านอย่างเอาจริงเอาจังว่า ชื่อหลวงปู่ขาว อนาลโย  ท่านเป็นพระภิกษุ ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้หญิง  และไม่ใช่พระสงฆ์ จะใช้ชื่อ "อนาลยา" ได้หรือไม่

พอได้ยินชื่อนี้  ท่านก็ยิ้ม  ตอบว่า "ได้"

และท่านก็ยิ้มอีก กล่าวกับข้าพเจ้า พระสงฆ์ และลูกศิษย์ที่อยู่ ณ ที่นั้นว่า "ที่ีวัดป่านานาชาติ ก็มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ  อนาลโย  ท่านเป็นผู้มีศรัทธามาก  จึงบวชๆ สึกๆ อยู่หลายครั้งหลายครา ตอนนี้สึกไปแล้วหรือกลับมาบวชอีกก็ไม่แน่ใจ" แล้วท่านก็ยิ้มเหมือนท่านขำๆราวกับท่านจะถามข้าพเจ้าว่า  แล้วอนาลยา จะบวชๆ สึกๆ ด้วยอีกคนหรือไม่
ความจริงก็คือ....ขณะนั้นข้าพเจ้ากำลังคิดเรื่องการบวชเป็นชีอยู่พอดี  ข้าพเจ้าจึงกราบเรียนท่านว่า
"เป็นที่น่าคิดว่าอนาลยาก็อาจจะจะบวชๆ สึกๆ เหมือนกันกระมังเจ้าคะ"

ข้าพเจ้าคิดดังนั้นจริงๆ เพราะตั้งใจว่าหากข้าพเจ้าได้บวชเป็นชี ก็จะให้ทุกย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย หากมีคนถามว่าจะบวชนานเท่าใด ข้าพเจ้าก็ไม่ปรารถนาจะตอบเลย เพราะในใจข้าพเจ้าก็ไม่ได้คิดว่าถ้าบวชแล้วจะสึกเมื่อไร เมื่อไรก็เมื่อนั้น แล้วถ้ามีเหตุให้ต้องสึก ก็จะสึก แล้วถ้ามีเหตุให้บวชอีก ก็จะบวชใหม่ ฟังดูเหมือนคนเลื่อนลอย  แต่ข้าพเจ้่าตระหนักว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่เที่ยง แต่ถ้าบวชก็จะใช้เวลากับการปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ และเมื่อเหตุปัจจัยยังไม่พร้อมที่จะบวช ในขณะที่ยังเป็นฆราวาสอยู่อย่างทุกวันนี้  ก็น่าที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการเผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามกำลัง

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงจัดทำเว็ปไซต์ธรรมะนี้โดยใช้ชื่อว่า อนาลยาดอทคอม
อนาลยาดอทคอม จึง เป็นเว็ปไซต์ที่ข้าพเจ้าตั้งใจสร้างขึ้น เพื่อน้อมนำกายใจของผู้จัดทำ  และผู้เข้ามาเยี่ยมชมไปสู่ความไม่มีที่อาศัยของตัณหาด้วยการศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์และการนำไปปฏิบัติ  เว็ปไซต์นี้จึงประมวลคำสอนทั้งแนวปริยัติ และแนวทางการปฏิบัติ  จึงขอเชิญท่านสมัครเป็นสมาชิกอนาลยาดอทคอม  เป็นกลุ่มเพื่อนอนาลยา พุทธศานานิกชนที่ต่างร่วมใจกันเข้ามาที่นี้เพื่อการศึกษาและการปฏิบัติ ขัดเกลากิเลสในจิตตนให้เบาบางลง  ไปสู่ความไม่มีที่อาศัยของตัณหาตามกำลัง สติ ปัญญา และบุญบารมีที่ท่านได้สะสมมา

ข้าพเจ้าขออนุโมทนาท่านทั้งหลายที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมเว็ปไซต์อนาลยาดอทคอม บุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้ให้ธรรมะเป็นทานนี้ และบุญใดที่ข้าพเข้าได้กระทำมาในทุกภพทุกชาติ จนถึงปัจจุบัน ข้าพเจ้าขอแบ่งบุญนั้นๆ แด่ท่านทั้งหลาย ขอให้ท่านทั้งหลายมีความเจริญงอกงามในธรรม  และเข้าถึงพระนิพพานด้วยกันทุกท่านเถิด

ข้าพเจ้าถวายบุญกุศลนี้เพื่อกราบบูชาคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ทั้งหลายทั้งที่ล่วงลับไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่

บิดา-มารดา ผู้ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต

พระวิปัสสนาจารย์ที่ได้อบรมสั่งสอนให้ข้าพเจ้าเข้าใจในคำสอนและการปฏิบัติในทางพระพุทธ ศาสนา อันได้แก่
พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ วัดอมราวดี  ประเทศอังกฤษ)
พระวิปัสสนาจารย์ท่านแรกในชีวิต ท่านสอนข้าพเจ้าด้วย "การทำให้ดู" ด้วยการเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เหมือนดังบทสวดมนต์ที่ว่า ''ท่านจงมาดูเถิด'' ข้าพเจ้าได้ดูท่านไว้ในใจเป็นตัวอย่างที่ดีตลอดมา
พระอาจารย์ปสันโน  ภิกขุ (วัดป่าอภัยคีรี  ประเทศสหรัฐอเมริกา)
คำสอนของท่านลึกซึ้งทั้งปริยัติและปฏิบัติ ท่านเป็นตัวอย่างให้ข้าพเจ้าระลึกถึงใจที่สะอาดอ่อนโยนแจ่มใสเบิกบานในธรรม ใจที่ปล่อยวาง และเมตตา
หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี (พระครูเกษมธรรมทัต วัดมเหยงคณ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
พระวิปัสสนาจารย์ผู้แตกฉานทั้งปริยัติ และปฏิบัติ ผู้ถ่ายทอดคำสอนของพระพทุธเจ้าได้อย่างงดงาม ซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้แก่หมู่ศิษย์ (เพราะสอนเท่าไรก็ไม่จำ) โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ผู้ที่สอนให้ข้าพเจ้าเข้าใจได้ว่า ปริยัติมิใช่เป็นเพียงตำรา แต่ปฏิบัติได้จริง แม้ท่านจะศึกษาปริยัติมามาาก แต่คำสอนของท่านนั้นตรง และละเอียดไปด้วยสภาวะของการปฏิบัติที่มีปริยัติรองรับทั้งสิ้่น เป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่เลิศในการสอบอารมณ์กรรมฐาน หากปราศจากคำแนะนำอบรมสั่งสอนจากท่าน ข้าพเจ้าก็คงวนเวียนเดินผิดเดินถูกอยู่อีกนาน ท่านจึงเสมือนบิดาทางธรรมผู้ให้แสงสว่างคือปัญญาจากการปฏิบัติแก่ข้าพเจ้า  และ
อาจาย์ผู้ให้ความ รู้ในทางพระอภิธรรม คุณแม่ชีวิไล ฤทธิ์อินทร์ (วัดเพลงวิปัสสนา กรุงเทพฯ)

คุณแม่ชีวิไล ฤทธิ์อินทร์ อาจารย์ผู้สอนพระอภิธรรม ผู้อดทนไม่ย่อท้อในการเคี่ยวเข็ญ พร่ำสอน แนะนำ เอาใจใส่ ให้กำล้งใจข้าพเจ้าตลอดการศึกษา ท่านเป็นผู้มีทั้งศาสตร์ และศิลป์ในการสอน ทำให้การศึกษาพระอภิธรรมเป็นเรื่องไม่ยากเกินไปที่จะเรียน ท่านได้อุทิศตน (เวลาเกือบทั้งหมด) แก่พระพุทธศานาโดยการสืบทอดคำสอนของพระพุทธองค์อย่างที่เรียกว่าเกินร้อย เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ที่ควรสรรเสริญ ท่านเป็นผู้ให้ปัญญาทางปริยัติ ข้าพเจ้าจึงไม่ลังเลที่จะเรียกท่านว่า ''คุณแม่'' ชีวิไล
ครูอาจารย์ ที่ได้อบรมสั่งสอนตั้งแต่เยาว์วัย
ตลอดจนครูอาจารย์อีกหลายท่านที่ข้าพเจ้าได้ อ่าน และได้รับฟังคำสอนของท่านอันไม่สามารถกล่าวนามได้ทั้งหมด  ทั้งท่านที่ยังมีชีวิตอยู่  และท่านที่ล่วงลับไปแล้ว

ญาติ มิตร

และแด่สรรพสัตว์ทั้งหลายโดยไม่มีประมาณ ขอให้เป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีเวรต่อกันและกัน  อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจ  อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด  หากสัตว์เหล่าใดไม่สามารถรับรู้บุญที่อุทิศให้นี้  ขอเหล่าเทวดาจงบอกแก่สัตว์เหล่านั้นให้รู้ด้วย เทอญ

อนาลยา